xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนเคาะงบ 256 ล้านบาท สร้าง “ลิฟต์ผู้พิการ” 16 สถานี เหตุ “บีทีเอส” ต้องร่วมออกเงินด้วยหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภา กทม. ยังไม่เคาะงบ 256 ล้านสร้างลิฟต์ผู้พิการ 19 ตัว รวม 16 สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังเกิดข้อสงสัย “บีทีเอส” ต้องร่วมหนุนออกค่าก่อสร้างด้วยหรือไม่ เตรียมเคาะใหม่สัปดาห์หน้า

ความคืบหน้ากรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องจัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ ในการใช้บริการรถไฟฟ้าหรือบีทีเอสตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั้น

วันนี้ (16 พ.ค.) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีวาระการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว โดยนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภา กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้รายงานผลการพิจารณาญัตติที่ กทม. ขอความเห็นชอบงบประมาณเพื่อก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุของระบบขนส่งมวลชนมวลชนกรุงเทพ ตามแนวเส้นทางสัมปทาน เพิ่มเติมจำนวน 19 ตัว ใน 16 สถานี งบประมาณ 256.2 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ประชุมสมาชิกสภา กทม.ส่วนใหญ่ให้ความเห็นด้วยในการให้ กทม. ก่อสร้างลิฟต์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ใช้รถวีลแชร์ แต่มีข้อสังเกตและข้อท้วงติงว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ในฐานะผู้ถูกฟ้องที่ 4 ตามคำสั่งศาลนั้นต้องให้ความร่วมมือสนับสนุนผู้ว่าฯ กทม. ในฐนะผู้ถูกฟ้องที่ 2 ในการจัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ บีทีเอสได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่ง กทม. ต้องตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาสัมปทานให้สิทธิบีทีเอสเดินรถไฟฟ้า ว่า บีทีเอสจะต้องมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายการก่อสร้างลิฟต์ด้วยหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบกับรายงานผลการศึกษา มีเพียง นายวิชาญ ธรรมสุจริต สมาชิกสภา กทม. ที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่ารายงานยังไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่มีรายละเอียดของสัญญาสัมปทาน ทำให้การพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุมัติงบประมาณให้ กทม. ไปดำเนินการก่อสร้างลิฟต์ตามโครงการดังกล่าวต้องเลื่อนไปเป็นการประชุมสภา กทม. ในสัปดาห์หน้า

นายสมชาย เดชากรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ในฐานะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวว่า การดำเนินการตามคำสั่งศาล ในส่วนที่ให้บีทีเอสดำเนินการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการบริเวณสถานีนั้น บีทีเอสได้ดำเนินการแล้ว เช่น จัดทำป้ายสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำราวเหล็ก ที่จับ ทางลาด ที่จอดรถวีลแชร์ในขบวนรถ นอกจากนี้ ภายหลัง กทม.ก่อสร้างลิฟต์เสร็จ บีทีเอส จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล บำรุงรักษาระบบทั้งหมด รวมถึงค่าไฟ

ด้าน นายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผอ.สจส. กล่าวว่า ในสัญญาสัมปทานซึ่งมีการลงนามเมื่อเดือนเมษายน 2535 ขณะนั้นกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการยังไม่บังคับใช้ ตามคำนิยามของคำว่าอุปกรณ์ ระบบงาน ไม่ได้ระบุถึงลิฟต์ไว้ ดังนั้น เวลาที่มีการก่อสร้างจริงจะมีการออกแบบให้กทม.อนุมัติ ซึ่งในแบบก็ไม่ได้มีลิฟต์อยู่ การศึกษาของศาลฎีกา ได้ตีความสัญญาสัมปทานไว้ชัดแล้วว่า เมื่อสัญญาไม่ได้ระบุถึง เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. และ กทม. ในการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการ


กำลังโหลดความคิดเห็น