“ป้าทุบรถ” ชนะคดี ศาลปกครองมีคำพิพากษาว่าการอนุญาตให้ตั้งตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่ามิชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้รื้อถอนภายใน 60 วัน และให้ผู้ว่าฯ กทม. ชดใช้เยียวยาอ่วมรายละกว่า 3.6 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน ห้ามให้มีการวางตั้งแผงลอยค้าขายบริเวณนั้นเด็ดขาด
วันนี้ (16 พ.ค.) ศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษาคดีที่ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านในหมู่บ้านเสรีวิลล่าสวนหลวง ร. 9 พร้อมพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้อง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 นายสุกิจ นามวรกานต์ กับพวกรวม 7 คน ซึ่งเป็นเจ้าของตลาด 5 แห่งรอบบ้านพักของน.ส.บุญศรี เป็นผู้ร้องสอด กรณีปล่อยให้เกิดการสร้างตลาดทั้ง 5 แห่งคือตลาดสวนหลวง ตลาดรุ่งวานิชย์ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา ตลาดร่มเหลือง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเห็นว่า คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินในขณะเกิดข้อพิพาทอนุญาตให้ผู้จัดสรรที่ดินทำการจัดสรรที่ดินจำนวน 3 โครงการ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินอันเป็นที่ตั้งบ้านพักอาศัยของน.ส.บุญศรีกับพวก และที่ดินอันเป็นที่ตั้งของ อาคารตลาดพิพาทของผู้ร้องสอดอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินตามใบอนุญาตเลขที่ 296/2530 ลงวันที่ 5 ต.ค. 30 โครงการที่ 2 ที่วัตถุประสงค์ตามโครงการจัดสรรเฉพาะที่ดิน ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง การที่ผู้จัดสรรที่ดินระบุไว้ในแบบแสดงรายการโครงการจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินว่า “ทางบริษัทฯ ได้จัดสรรเฉพาะที่ดินเปล่า จึงดำเนินการทำทางเท้า ให้แล้วเสร็จไม่ได้ เนื่องจากผู้ซื้อต้องมาก่อสร้างบ้าน และภายหลังจากที่ผู้ซื้อสร้างบ้านเสร็จ ผู้ซื้อจะเป็น ผู้ดูแลและจัดทำทางเท้าเองทุกแปลง” จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่า ผู้จัดสรรที่ดินมีเจตนาให้การ ใช้ประโยชน์ที่ดินจัดสรรโครงการที่ 2 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเท่านั้น
นอกจากนี้ ไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่ประกอบการพาณิชย์แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ผู้ว่าฯกทม. ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดให้แก่เจ้าของตลาดที่เป็นผู้ร้องสอด จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พ.ย. 15 ที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยฃการควบคุมอาคาร ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ที่ว่า การก่อสร้างอาคารตลาดในที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นการทำผิด วัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนตามกฎหมาย นั้น จึงไม่อาจรับฟังได้
อีกทั้งการที่เจ้าของตลาดที่เป็นผู้ร้องสอดก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดทั้ง 5แห่งโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้ว่าฯกทม.ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนออกไป จึงถือได้ว่าผู้ว่าฯกทม.ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อีกทั้งการผอ.เขตประเวศในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 และพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องกับตลาดพิพาททั้ง 5 แห่งของเจ้าของตลาดที่จัดตั้งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 34แห่งพ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 และปล่อยปละละเลยให้มีผู้จำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าบ้านน.ส.บุญศรีกับพวก เมื่อนับเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ที่มีการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดแห่งแรกในคดีนี้ จนถึงปี พ.ศ.2561 ที่เกิดเหตุการณ์ทุบรถจอดกีดขวางหน้าบ้านน.ส.บุญศรีกับพวก และผอ.เขตประเวศ ได้ออกคำสั่งให้เจ้าของตลาด หยุดประกอบกิจการตลาดพิพาท นับเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปีเศษ จึงถือได้ว่าผอ.เขตประเวศ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างล่าช้าเกินสมควร ไม่เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อีกทั้งยังเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้น.ส.บุญศรีกับพวก รับความเดือดร้อนเสียหายและต้องตกอยู่ในภาวะทนทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน ศาลจึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่กรุงเทพมหานคร พึงต้องชดใช้แก่น.ส.บุญศรีกับพวกส่วนหนึ่ง และกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นค่าเสียหายสำหรับการสูญเสียความสุข เพื่อเป็นการชดเชยความสงบสุขในชีวิตที่ต้องสูญเสียไปให้แก่น.ส.บุญศรีกับพวกอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมและเป็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่น.ส.บุญศรีกับพวกในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนี้จึงพิพากษาให้ 1.เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ที่ผู้ว่าฯกทม. ออกให้แก่เจ้าของตลาดทั้ง 5 แห่ง โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารแต่ละฉบับดังกล่าว
2.. ให้ผู้ว่าฯกทม. และหรือผอ.เขตประเวศ ใช้อำนาจตามมาตรา 40 , 42 และ 43 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ดำเนินการกับอาคารของเจ้าของตลาดที่เป็นผู้ร้องสอดที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 3. ให้ผู้ว่าฯกทม. ผอ.เขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา26,28,41,44และ45 ของพ.ร.บ.การสาธารณสุข เพื่อมิให้เจ้าของตลาด หรือผู้หนึ่งผู้ใดก่อเหตุรำคาญ และควบคุมดูแลมิให้มีผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะบริเวณหน้าบ้านน.ส.บุญศรีและพวก ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 4. ให้ผู้ว่าฯกทม. ผอ.เขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 44 แห่งพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง.2535 โดยสอดส่องกวดขันมิให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าบนถนนและทางเท้าบริเวณหน้าบ้านน.ส.บุญศรี กับพวกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
5.. ให้กรุงเทพมหานคร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่น.ส.บุญศรีกับพวกเป็นเงินรายละ 386,400บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,473,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 56 ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด และให้คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 1 ส.ค. 56 ของศาลยังคงมีผลต่อไปจนกว่าคำพิพากษาถึงที่สุด
ด้านนางบุญศรี กล่าวขอบคุณที่ศาลที่มองเห็นความเดือดร้อนและเมตตาให้ความเป็นธรรมคืนที่พักอาศัยให้กับประชาชน รวมทั้งพิพากษาว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกำหนดให้กทม.ต้องชดใช้ ซึ่งก็อยากฝากถึงกทม.ว่า พื้นที่ดังกล่าวศาลระบุแล้วว่าถูกจัดสรรให้เป็นที่พักอาศัยรวมถึงบริเวณโดยรอบสวนหลวงร. 9 ด้วยจึงไม่ควรสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และอยากให้คดีนี้เป็นตัวอย่างว่าถ้าพื้นใดถูกกำหนดเป็นที่พักอาศัย กทม.ก็ไม่ควรที่จะอนุญาตให้มีการประกอบการพานิชย์ เพราะบางครั้งประชาชนเขาก็เดือดร้อนและไม่สามารถเข้าถึงศาลได้ ทุกคนกว่าจะซื้อบ้านต้องใช้เวลาพอสมควรในเมื่อได้ที่พักอาศัยแล้วก็ควรได้รับการคุ้มครองจากตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ เพื่อให้ได้อยู่อย่างสงบสุข
เมื่อถามว่ากรุงเทพมหานครอาจจะยื่นอุทธรณ์คดี น.ส.บุญศรี กล่าวว่า เขามีสิทธิตามกฎหมาย แต่สิทธิอันชอบธรรมเขามีหรือไม่ ต้องถามเขาเพราะประชาชนเดือดร้อนมาเกือบ 10 ปี เขาควรหรือไม่ที่จะอุทธรณ์ และศาลก็มีคำพิพากษาถือว่าชัดเจนแล้ว เขาไม่สมควรอย่างยิ่ง ควรปฏิบัติตามคำพิพากษาคืนพื้นที่อยู่อาศัยให้ประชาชนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
" เราดีใจ ไม่ว่าศาลจะสั่งให้กทม.ชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไรก็ไม่เป็นไร แต่เราดีใจที่ศาลท่านเห็นความเดือดร้อนของเรา ตอนนี้เราโล่งใจ ประชาชนในหมู่บ้านถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อได้ยินว่าศาลสั่งให้คืนพื้นที่อยู่อาศัยให้กลับสู่สภาพเดิมอย่างชัดเจนถือว่าคุ้มค่าที่เราได้พยายามต่อสู้มาหลายปี "
นอกจากนี้น.ส.บุญศรี ยังระบุว่าแม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว ป้ายที่ติดอยู่บริเวณหน้าประตูบ้าน ก็จะยังไม่รื้อออก เพราะมันคือเนื้อหาความเดือดร้อนเสียหายที่เราลุกขึ้นมาต่อสู้ในฐานประชาชน และเราต้องใช้สิทธิของเราให้ถูกต้อง และเมื่อศาลมีคำพิพากษาในวันนี้ก็จะนำพิพากษาดังกล่าวไปติดเพิ่มเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบ เพราะคำพิพากษาถือว่ามีประโยชน์ต่อประชาชน และอยากจะฝากถึงเจ้าของตลาดรวมถึงผู้ค้าว่า ที่ฟ้องเราไมได้ฟ้องตลาด แต่ตลาดก็ควรเข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พักอาศัย จึงควรถูกใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งตลาดหรือผู้ค้าก็ต้องไปใช้สิทธิใช้พื้นที่ของเขาให้ถูกต้อง