xs
xsm
sm
md
lg

อย.เร่งขึ้นทะเบียนโรงงาน “เครื่องสำอาง” ตรวจเช็กผลิตจริงตามคำขอจดแจ้งหรือไม่ สกัดสวมทะเบียนปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. กำชับภูมิภาคเร่งตรวจสอบมาตรฐานและขึ้นทะเบียนโรงงานผลิต “เครื่องสำอาง” ให้เสร็จใน 3 เดือน หวังช่วยสกรีนคำขอจดแจ้งผลิตจากโรงงานเถื่อน เผยโทร.เช็กโรงงานผลิตให้ผู้ประกอบการจริงหรือไม่ ป้องกันสวมทะเบียนปลอม

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวร่วมกับ กสทช. ในการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ อย. 6 คน ไปประจำที่ กสทช. เพื่อตรวจการโฆษณาผลิตภัณฑืสุขภาพที่เกินจริงหรือหลอกลวง หากพบจะยื่นเลขาธิการ กสทช. สั่งระงับออกอากาศได้ทันที เพื่อให้การดำเนินการมีความรวดเร็วขึ้น

วันนี้ (3 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ถึงมาตรการในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาที่ผิดกฎหมายในส่วนของภูมิภาคว่าต้องดำเนินการอย่างไร และรับฟังความคิดเห็น

นพ.วันชัย กล่าวว่า ที่กำชับในส่วนภูมิภาคให้ดำเนินการ ก็คือ มาตรการของ อย. ที่จะเข้มในการเพิ่มประสิทธิภาพก่อนพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพและหลังอนุญาต เพื่อป้องกันสินค้าผิดกฎหมายและการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง คือ 1. การขึ้นทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ (E-Submission) ไม่มีการให้ทะเบียนอัตโนมัติแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ต้องตรวจกรองคำขออย่างละเอียด 2. การออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งทางส่วนภูมิภาคต้องร่วมกันในการออกตรวจโรงงานว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เพื่อนำมาขึ้นทะเบียนเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานในระบบของ อย. ดังนั้น เมื่อมีการยื่นคำขอทางออนไลน์ จึงต้องยื่นว่าผลิตด้วยโรงงานที่อยู่ในระบบของ อย. หากไม่อยู่ในระบบก็จะมีการลงไปตรวจสอบโรงงานนั้นๆ หรือแม้จะยื่นว่าผลิตในโรงงานที่อยู่ในระบบของ อย. แต่ก็จะมีการเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามโรงงานนั้นว่าผลิตให้ผู้ประกอบการรายนี้จริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการปลอมทะเบียนโรงงาน หรือไม่ได้ไปผลิตที่โรงงานนั้นจริง

“โรงงานผลิตเครื่องสำอางคาดว่า มีประมาณ 1 - 2 หมื่นแห่ง โดยการตรวจมาตรฐานโรงงานจะเริ่มตั้งแต่ มิ.ย. ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน คาดว่า จะแล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ที่มีโรงงานผลิตเครื่องสำอางมาก โดยเฉพาะพื้นที่ปริมณฑล เช่น สมุทรปราการ นครปฐม และ ปทุมธานี เป็นต้น ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ อย. จากส่วนกลางไปช่วยเหลือในการตรวจสอบ หรือหากจังหวัดไหนที่ตรวจแล้วทั้งหมดอาจไปช่วยเหลือจังหวัดที่ยังตรวจไม่แล้วเสร็จ” นพ.วันชัย กล่าว

นพ.วันชัย กล่าวว่า 3. การตรวจสอบโฆษณาก็ขอให้ทางภุมิภาคร่วมตรวจสอบด้วย หากพบก็แจ้งไปยัง กสทช. ภาคหรือจังหวัดได้ทันที เพราะมีการหารือระหว่าง อย. และ กสทช. ที่จะลดขั้นตอนให้ระงับการออกอากาศได้รวดเร็วขึ้น ผ่านอำนาจของเลขาธิการ กสทช. และ 4. การสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ซึ่งอยากให้ส่วนภูมิภาคร่วมกันสร้างเครือข่ายผ่านทางเครือข่าย อสม. หรือ อย. น้อย

นพ.วันชัย กล่าวว่า ในส่วนของโฆษณาที่เป็นโซเชียลมีเดียนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นอำนาจของ กสทช. ที่สามารถจัดการผู้กระทำความผิดได้ แต่ สธ. จะประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พิจารณาแนวทางที่จะดำเนินการผู้กระทำความผิด เพื่อจัดการกับผู้ที่โฆษณาในโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งก็ต้องหารือว่า จะสามารถนำ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาประกอบพิจารณาความผิดได้ด้วยหรือไม่ ส่วนการจัดการโฆษณาที่ดำเนินการผ่านโซเชียลมีเดียค่อนข้างมีความซับซ้อน เนื่องจากมี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. มีฐานโฆษณาในประเทศไทยที่สามารถดำเนินการได้โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ และ 2. กลุ่มโฆษณาที่มีฐานดำเนินการในต่างประเทศ ซึ่งอาจดำเนินการจัดการได้ยาก โดย อย. มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขของกลุ่มเหล่านี้อยู่ จึงจะประสานทางกระทรวงดิจิทัลฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง



กำลังโหลดความคิดเห็น