NASEM ร่วม อย. มะกัน ศึกษาพบไอระเหย บุหรี่ไฟฟ้าทำลายดีเอ็นเอ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง อันตรายระบบสืบพันธุ์ มีผลต่อเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด
รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์ (NASEM) ร่วมกับองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) เปิดเผยรายงานการศึกษา “ผลกระทบต่อสุขภาพของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์หรือบุหรี่ไฟฟ้า” เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561 ที่ได้ข้อสรุปจากผลการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ มากกว่า 800 ชิ้น พบว่า ในบุหรี่ไฟฟ้าและไอระเหยที่ผู้สูบพ่นออกมานั้น ประกอบด้วย ฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก และมีสารนิโคตินและสารพิษอื่นอีกจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ และ อะโครลีน เป็นต้น โดยในไอระเหยที่พ่นออกมาสามารถทำลายดีเอ็นเอและทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้
รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าวว่า การสูดดมไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง และเป็นอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ และยังมีรายงานการวิจัยที่ระบุถึงอันตรายของการสูดไอระเหยจากบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด โดยภายหลังการสูดควันไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเพียงสิบครั้ง จะสามารถตรวจพบเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดที่ตายและหลุดลอยอยู่ในกระแสเลือดจำนวนมาก ซึ่งในระยะยาวสามารถนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังตรวจพบโลหะหนักในไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งอาจมาจากขดลวดที่ใช้เป็นแหล่งความร้อน หรือส่วนอื่นๆ ของแท่งหลอดบรรจุแบตเตอรี่และของเหลว
ส่วนรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ. 2559 ระบุว่า แต่ละยี่ห้อ มีความแตกต่างกันมาก ทั้งลักษณะของผลิตภัณฑ์ แท่งหลอดที่บรรจุน้ำยา ส่วนผสมของน้ำยา และลักษณะการใช้อุปกรณ์ โดยแต่ละยี่ห้อมีสารที่เป็นอันตรายในระดับที่สูง และต่ำกว่าควันบุหรี่ธรรมดาแตกต่างกัน รศ.ดร.เนาวรัตน์ จึงสรุปว่า อุปกรณ์ที่จะนำมาใช้เพื่อการเลิกบุหรี่ ยังต้องพัฒนาและพิสูจน์ให้มั่นใจว่าปลอดภัยทั้งระยะสั้น และไม่มีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวด้วย