xs
xsm
sm
md
lg

“วิระชัย” นำทีมบุกตรวจ รง.หลอมแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน จ.ฉะเชิงเทรา พบผิดหลายข้อหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ฉะเชิงเทรา - “วิระชัย” นำทีมบุกตรวจโรงงานหลอมคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ใน จ.ฉะเชิงเทรา หลังชาวบ้านร้องเรียนส่งผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม พบแรงงานกว่า 262 ชีวิต ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย ทั้งยังกระทำความผิด พ.ร.บ.โรงงาน นำขยะรีไซด์เคิลมากองไว้นอกตัวอาคาร เบื้องต้น สั่งปิดให้เร่งปรับปรุงใน 30 วัน พร้อมดำเนินคดีหลายข้อหาหนัก


 
วันนี้ (22 พ.ค.) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 100 นาย บุกจู่โจมตรวจสอบโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 33 ม.12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยพบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า กัมพูชา และลาว จำนวน 251 คน รวมทั้งคนงานไทยอีก 11 คน ที่กำลังคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และหลอมละลายตะกั่วเพื่อถอดคัดแยกอุปกรณ์ออกจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
 
โดยได้สั่งให้โรงงานหยุดเครื่องจักร และยุติการทำงาน ก่อนนำคนงานทั้งหมดไปทำการตรวจเลือด และเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อหาสารโลหะหนักในกระแสเลือดเกินกว่าค่ามาตรฐานหรือไม่ ขณะเดียวกัน ยังทำการตรวจสอบใบอนุญาตในการก่อตั้งโรงงาน และเอกสารเกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ซึ่งก็พบว่า มีแรงงานต่างด้าวบางส่วนเข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้อง ส่วนการนำเข้าเศษขยะกากอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่มีที่มาอย่างชัดเจน

พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้มี นายเหยา (YAO) อายุ 40 ปี ชาวจีน รับเป็นผู้จัดการโรงงาน โดยมี นายจี้หยิน อายุ 62 ปี ชาวฮ่องกง เป็นเจ้าของอยู่ในต่างประเทศ โดยได้แอบลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นขยะต้องห้ามซึ่งในหลายประเทศไม่อนุญาตให้นำเข้าประเทศ แต่กลับมีการลอบนำเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ โรงงานแห่งนี้เคยถูกเพลิงไหม้ที่บริเวณเตาหลอมโลหะ (ตะกั่ว) ที่มีการติดตั้งไว้ที่บริเวณด้านหลัง จำนวน 22 เตาเผา เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดมลพิษรั่วไหลออกไปโดยรอบโรงงาน และมีชาวบ้านเข้าร้องเรียนหน่วยงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย และได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุขผนึกกำลังปฏิบัติการกวาดล้างกิจการทำลายชาติในครั้งใหญ่

สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว มีทั้งสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารปรอท แคดเมียม ซึ่งเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ทำลายระบบเลือด และก่อมะเร็ง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งให้ปิดดำเนินการในทันที เพื่อให้จัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์นอกตัวอาคารให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

ขณะเดียวกัน ยังแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ประกอบการโรงงาน คือ นำเข้ามาซึ่งวัตถุดิบอันตรายชนิดที่ 3 คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชน ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ม.25 และ 28/1 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับแจ้ง ตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ม.13 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ส่วนกองขยะอันตรายกลางแจ้ง เป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน และวิธีการควบคุมการปล่อยของเสียมลพิษหรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของโรงงาน คือ การเก็บขยะนอกโรงงาน อันเป็นความผิดตามมาตรา 8 (5) พ.ร.บ.โรงงาน มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท

พล.ต.อ.วิระชัย ยังกล่าวถึงการดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ว่า เป็นความผิดตาม ม.54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ที่พักพิงช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รับคนงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน เป็นความผิดตามมาตรา 27 พ.ร.บ.การทำงานของแรงงานต่างด้าว มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาทั้งหมดที่แจ้งแก่โรงงานแห่งนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น