xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาจ่อเรียก “หมอบอนด์” สอบจริยธรรม รีวิวสินค้าเครือเมจิกสกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทยสภาจ่อเรียก “หมอบอนด์” สอบสวนจริยธรรม หลังรีวิว “คลีโอ” สินค้าเครือข่ายเมจิกสกิน ชี้ เป็นการเอาวิชาชีพมารับรองหรือขาย “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ผิดข้อบังคับชัดเจน คุ้ยเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์มากน้อยแค่ไหน ก่อนพิจารณาระดับโทษ พร้อมเตือนหมอทั่วประเทศ ห้ามใช้วิชาชีพโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

จากกรณีตำรวจออกหมายเรียก นพ.ปิยะพงษ์ โหวิไลลักษ์ หรือ หมอบอนด์ ที่รีวิวสินค้า “คลีโอ” ในเครือข่ายผลิตภัณฑ์เมจิกสกิน ร่วมกับ น.ส.ปวีณา นามสงคราม หรือ น้ำผึ้ง Take Me Out ภรรยา และนายกสิทธ์ วรชิงตัน หรือ หญิงย้วย โดยคลิปการรีวิวดังกล่าว หมอบอนด์ ได้ยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความปลอดภัยและเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ 100%

วันนี้ (30 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ กรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการใช้วิชาชีพแพทย์ไปขายของ ไปหาประโยชน์ หรือไปรับรองผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งถือว่าผิดข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 44 ที่ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด ถ้าต้องการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ต่อสาธารณชนจะต้องไม่ใช้คำว่า นายแพทย์ แพทย์หญิง คำอื่นใดหรือกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ ภาพ เครื่องหมาย หรือกระทำอย่างใดๆ ให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

“หากเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น เครื่องบิน รถ ก็คงไม่เป็นอะไร แต่การรีวิวดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม ยาลดความอ้วน ฟอกขาว พวกนี้กระทำไม่ได้ แต่ก็มีเปิดช่องไว้ในข้อบังคับข้อที่ 45 คือ เมื่อแสดงความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต้องเปิดเผยด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากธุรกิจนั้น เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ร่วมทุน เป็นเจ้าของเอง เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าคุณต้องการขายของหรือไม่ สำหรับบทลงโทษในเรื่องจริยธรรมนั้นมี 4 ระดับ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา มักจะเป็นการว่ากล่าวตักเตือน เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้กฎหมายหรือข้อบังคับ เป็นต้น” นพ.สัมพันธ์ กล่าว

นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีของหมอบอนด์ก็คงต้องมีการสอบสวน โดยเลขาธิการแพทยสภาจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาครั้งถัดไป คือ ช่วงกลางเดือน พ.ค. โดยไม่ต้องรอให้ผู้ร้อง เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนจริยธรรม โดยจะสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ลึกซึ้งแค่ไหน มีส่วนรู้เห็นแค่ไหน ว่า ผลิตภัณฑ์ผ่าน อย. หรือไม่ มีสารที่มีปัญหาต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งคาดว่าไม่น่านาน เพราะค่อนข้างชัดเจน แต่ต้องให้เจ้าตัวเข้ามาชี้แจงด้วย ซึ่งระดับของโทษทางจริยธรรมจะพิจารณาว่าเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเขาไม่รู้ไม่ทราบจริงๆ ก็อาจจะเป็นเพียงการว่ากล่าวตักเตือน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จริงๆ แล้วแพทย์ควรจะรู้ข้อบังคับของแพทยสภาหรือไม่ นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ข้อบังคับเขียนไว้ชัดเจน แต่จะมีกี่คนที่อ่านข้อบังคับ แต่โดยจิตวิญญาณแล้วน่าจะรู้ระดับหนึ่งว่าไม่เหมาะสม ในการนำวิชาชีพแพทย์ไปขายผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือไปรับรอง ซึ่งก็ไม่ต่างจากวิชาชีพอื่น เช่น พยาบาล ทันตแพทย์ หรือเภสัชกร ซึ่งก็มีระเบียบข้อบังคับคล้ายๆ กัน

เมื่อถามต่อว่าในการเรียนก็มีเรื่องจริยธรรมก็น่าจะรู้หรือไม่ โทษจึงไม่ควรเป็นเพียงว่ากล่าวตักเตือน นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วแพทย์เรียนค่อนข้างหนัก อย่างกฎหมายหรืออะไรที่ไม่เกี่ยวกับแพทย์ก็ต้องเรียนเยอะ ไม่สามารถรู้ได้ทุกแง่ทุกมุม เด็กจบแพทย์ใหม่ปีละ 3,000 คน เชื่อว่า มีไม่ถึง 100 คนที่ทราบ อย่างไรก็ตาม แพทยสภาจะใช้กรณีดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ในการเตือนแพทย์คนอื่นๆ ว่าไม่ควรกระทำในลักษณะเช่นนี้

“คนไทยเชื่อคนง่าย และยิ่งเป็นหมอก็ยิ่งเชื่อถือ จึงอยากย้ำว่าอย่าเพิ่งเชื่อ เพียงเห็นว่าเป็นหมอ แต่ควรมีการตรวจสอบก่อนว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีผ่าน อย. หรือไม่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้ประชาชนโทรศัพท์สอบถาม และควรมีข้อสงสัยว่าส่วนผสมของผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้าง มีสารอันตรายหรือไม่ เพราะเวลาขายของจริงอาจมีการใส่ส่วนผสมเกินไปกว่าที่จดแจ้งได้” นพ.สัมพันธ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น