xs
xsm
sm
md
lg

“ดอกมะลิ” ดับพิษร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมแพทย์แผนไทย ชู “มะลิ” ช่วยคลายร้อน นำมาลอยน้ำดื่มเพิ่มความสดชื่น มีกลิ่นหอม รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ ดับพิษร้อน ชี้เป็นส่วนผสมหลักเครื่องหอม ยาหอม

วันนี้ (18 เม.ย.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ประเทศไทยมักเจอกับสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด พบว่า อุณหภูมิในบางพื้นที่สูง 40 - 41 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจของคนที่ต้องปะทะกับไอร้อนดังกล่าว เช่น การเสียเหงื่อ รู้สึกทรมานจากอากาศที่ร้อนจัด จิตใจไม่สบาย หงุดหงิด และหากร่างกายอ่อนเพลียอาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น วิธีการดูแลสุขภาพในช่วงอากาศร้อนมากๆ นี้ตามหลักการแพทย์แผนไทย คนสมัยโบราณมักจะใช้เครื่องหอมต่างๆ ช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาวะที่สมดุล บรรเทาภาวะที่ร้อนระอุ และช่วยให้จิตใจสงบสบายขึ้นจากเครื่องหอมไทย เช่น แป้งร่ำ แป้งหอม แป้งจากเกสรดอกไม้ ซึ่งจะมีดอกมะลิเป็นส่วนประกอบ รวมถึงแป้งดินสอพอง นำมาผสมกับน้ำลอยดอกมะลิที่มีกลิ่นหอม ใช้ทาผิวหน้า ผิวตัว จะช่วยให้สดชื่น นอกจากนี้จะนิยมนำดอกมะลิมาใช้ทำน้ำลอยดอกมะลิดื่มเพื่อความสดชื่น หรือเป็นน้ำในข้าวแช่อาหารขึ้นชื่อหน้าร้อน และชาดอกมะลิ

นพ.เกียติภูมิ กล่าวว่า ดอกมะลิ มีความสำคัญมากกว่าการมีกลิ่นหอม เพราะในเชิงสรรพคุณทางยา ดอกมะลินับว่าเป็นเครื่องยาเด่นตัวหนึ่งในตำรับยาไทยหลายตำรับ มะลิ มีรสหอมเย็น สรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ ดับพิษร้อน ช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้จิตใจชุ่มชื่น บำรุงครรภ์ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แพทย์แผนไทยจัดไว้เป็นตัวยาชนิดหนึ่งในพิกัดเกสรทั้ง 5 7 และ 9 มะลิเป็นส่วนผสมหลักของ ยาหอมเทพจิตร ซึ่งมีสรรพคุณ แก้วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ช่วยให้จิตใจสงบ ปรับสมดุลในร่างกายให้ผ่อนคลาย ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้ประชาชนได้รู้จักประโยชน์ของมะลิในมิติของยาไทย และได้รับรู้ถึงสรรพคุณของสมุนไพรใกล้ตัว ปลูกได้เอง ปรุงใช้ได้เองง่ายๆ

“ในปัจจุบันดอกมะลิถูกนำมาสกัดเป็นเครื่องหอมใช้ในธุรกิจสปาทั่วโลก รวมถึงสุคนธบำบัด มีการใช้มะลิแต่งกลิ่นในเครื่องสำอางหลายชนิด เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ของดอกมะลิทั้งสิ้น ดังนั้น หากต้องการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ อย่าลืมนึกถึงการปลูกมะลิไว้เพื่อใช้ประโยชน์กัน มะลิเป็น ไม้ชอบแสงแดด การดูแลไม่ยาก หากดอกออกจำนวนมาก สามารถเก็บตากแดดให้แห้ง ชงเป็นชามะลิดื่มเองง่ายๆ ได้ทั้งร้อนและเย็น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น