สธ. แจงเตรียมออก กม. ตั้ง “สถาบันพระบรมราชชนก” เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับแห่งแรก ช่วยกำหนดหลักสูตร จำนวนนักศึกษา ได้ตามแผนกำลังคน ไม่ต้องผูกติดกับมหาวิทยาลัยอื่น เผยร่าง กม.เตรียมเข้ากฤษฎีกาพิจารณา ระบุ ปลัด สธ. ทำหน้าที่เป็นนายกสภาสถาบัน ก่อนสรรหานายกสภาและอธิการบดีตัวจริง เปิดสอน 2 คณะ “พยาบาล - สหเวชศาสตร์”
วันนี้ (18 เม.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติและรับทราบ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ... ว่า สาเหตุที่ต้องออกเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดให้สถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางของรัฐในสังกัด สธ. เนื่องจากที่ผ่านมาการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ ของสถาบันพระบรมราชชนก จะไปผูกกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จำนวน 37 แห่ง ก็จะไปผูกกับมหาวิทยาลัย 7 แห่ง ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตบัณฑิตตามความต้องการด้านกำลังคนของ สธ. ได้ เนื่องจากการทำหลักสูตรหรือการรับจำนวนนักศึกษาขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง สธ. ไม่สามารถเข้าไปกำหนดได้ ขณะที่เวลารับปริญญาก็เหมือนกับอยู่คนละสถาบัน คนละมหาวิทยาลัย ต้องใช้ครุยถึง 7 สี 7 แบบตามที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนด
“เพื่อให้การผลิตกำลังคนด้านสาธารณสุขมีความสอดคล้องกับแผนของ สธ. จึงมีการยกระดับสถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของ สธ. คล้ายกับสถาบันการพลศึกษา ที่ยกระดับขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น จึงมีการยกร่างขึ้นเป็น พ.ร.บ. สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ... ซึ่งหลังจาก ครม. อนุมัติในหลักการแล้ว ก็จะส่งร่าง พ.ร.บ. ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามลำดับ เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งการที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของ สธ. จะส่งผลให้สามารถพัฒนาการศึกษา จัดการเรียนการสอน และกำลังคนตามความต้องการของระบบสาธารณสุขได้ โดยเบื้องต้นจะมีการเปิดสอน 2 คณะ คือ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ เช่น ทันตาภิบาล สาธารณสุขศาสตร์ โสตทัศนศึกษาทางการพทย์ เป็นต้น” พญ.พรรณพิมล กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ได้กำหนดให้วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรจังหวัดปราจีนบุรี วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีทุกแห่ง วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม และวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก ที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนราชการของสถาบัน และกำหนดให้สถาบันแบ่งส่วนงานออกเป็น 1. สำนักงานอธิการบดี 2. คณะ และ 3. สำนัก ซึ่งทันทีที่กฎหมายผ่านออกมาและมีผลบังคับใช้ การดำเนินการในระยะแรกจะอาศัยบทเฉพาะกาลในการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นนายกสภาสถาบัน และผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีสถาบัน จนกว่าจะมีการสรรหาและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกสภาสถาบัน อธิการบดี และกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับบุคลากรของสถาบันพระบรมราชชนก หลังตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแล้ว จากการหารือกับ ก.พ.ร. คือ ไม่มีการเพิ่มกำลังคน แต่จะโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้าง อัตรากำลัง งบประมาณ และรายได้ของสถาบันพระบรมราชชนก เว้นแต่วิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข และแก้วกัลยาสิกขาลัย ไปเป็นของสถาบันพระบรมราชชนก โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ