xs
xsm
sm
md
lg

สังเวย 418 ศพ 7 วันอันตรายสงกรานต์ “เมา-ขับรถเร็ว” สาเหตุหลักอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สรุป 7 วันอันตรายสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง สังเวย 418 ราย เจ็บ 3,897 คน “โคราช” แชมป์ดับสูงสุด 20 ราย เชียงใหม่ท็อปเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บสูงสุด ชี้ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่สวมอุปกรณ์นิรภัย ยังเป็นสาเหตุหลัก

วันนี้ (18 เม.ย.) นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงข่าวผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 ว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ พบเกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บ 336 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็ว 27.69% ดื่มแล้วขับ 25.73% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ จักรยานยนต์ 82.35% ส่วนใหญ่เกิดในทางตรง 66.45% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ 16.01 - 20.00 น.

นายสุธี กล่าวว่า จากการตั้งจุดตรวจหลัก 2,029 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,242 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 726,847 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 146,589 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 39,572 ราย ไม่มีใบขับขี่ 37,779 ราย ทั้งนี้ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ นครศรีธรรมราช จำนวน 15 ครั้ง จังหวัดที่เสียชีวิตสูงสุด คือ สุพรรณบุรี จำนวน 5 ราย บาดเจ็บสูงสุด คือ นครศรีธรรมราช จำนวน 16 คน

นายสุธี กล่าวว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 3,724 ครั้ง ผู้เสียชีวิตสะสม 418 ราย บาดเจ็บสะสม 3,897 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือตายเป็นศูนย์ มี 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง สมุทรสงคราม หนองคาย และ หนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ จำนวน 133 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ นครราชสีมา จำนวน 20 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ จำนวน 142 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ 40.28% ขับรถเร็วเกินกำหนด 26.50% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 79.85% รถปิกอัพ 7.17% ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง 64.66% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 28.65

“จากสถิติดังกล่าวพบว่า สาเหตุยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 79.85 ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนและต่อเนื่องตลอดทั้งปี วางกลไกการบริหารจัดการอุบัติเหตุครอบคลุมทุกปัจจัยเสี่ยงทั้ง คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย อีกทั้งวางแนวทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ผ่านกลไกของชุมชน และสถาบันครอบครัว โดยผลักดันการจัดทำแผนชุมชนด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ สร้างการรับรู้และความปลอดภัยทางถนนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย” นายสุธี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น