สธ. ระดมทีมแพทย์ฉุกเฉินกว่า 1.6 แสนคน ดูแลช่วงเทศกาลสงกรานต์ ย้ำเมาไม่ขับ พร้อมร่วม ศปถ. เข้ม 198 อำภอ และ 1 เขตเสี่ยง ด้าน ตร. ย้ำตรวจแอลกอฮอล์คนเกิดอุบัติเหตุทุกราย ปภ.เตือนเมาแล้วขับประกันไม่จ่าย
วันนี้ (4 เม.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “ร่วมมือร่วมใจ สุขใจเทศกาลสงกรานต์” ว่า ช่วงหยุดยาวสงกรานต์ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2561 นายกรัฐมนตรี ขอให้เข้มมาตรการด้านการป้องกันและลดการบาดเจ็บจากการจราจร ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง อย่าดื่มแล้วขับ ซึ่งเทศกาลปีใหม่ 2561 พบว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง แต่ยังพบการดื่มแล้วขับสูง โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนพบถึงร้อยละ 20 ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และไม่สวมหมวกนิรภัย จึงต้องเข้มข้นมาตรการนี้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ให้ตรวจจับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ด้วย สำหรับความพร้อมของสถานบริการสาธารณสุข ได้เตรียมหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็ว ลดความพิการ และการเสียชีวิต ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ (UCEP) รักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรก
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการ (EOC) ที่ส่วนกลางและทุกจังหวัดตลอดช่วง 7 วัน ให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ ศปถ. จังหวัด เข้มข้นในอำเภอเสี่ยง 198 อำเภอ และ 1 เขต คือ จตุจักร และให้โรงพยาบาลทุกแห่งตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เจ้าพนักงานตำรวจร้องขอหรือส่งตัวมาทุกราย รวมทั้งให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ระบบการรับและส่งต่อ ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอ.ซี.ยู. สำรองเลือด ออกซิเจน อุปกรณ์การแพทย์ และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีทีมแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ 14,492 หน่วย มีแพทย์ พยาบาล และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น จำนวน 165,158 คน เจ้าหน้าที่ทีมศัลยแพทย์ 1,500 คน เรือปฏิบัติการฉุกเฉิน 155 ลำ เครื่องบิน 129 ลำ พร้อมให้โรงพยาบาลบนเส้นทางหลวงจัดหน่วยปฏิบัติการระดับสูงหรือระดับพื้นฐานประจำเส้นทางหลวง
นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผอ.กองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แผนการดูแลเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. แต่จะมีความเข้มข้นอย่างมากในวันที่ 11 - 17 เม.ย. โดยเฉพาะใน 198 อำเภอเสี่ยง และ 1 เขตเสี่ยงสูงใน กทม. จะมีการตั้งด่าน ค้นหาคนเสี่ยง ยึดกุญแจรถ เป็นต้น ทั้งนี้ ขอย้ำว่า หากเกิดอุบัติเหตุแล้วมีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยมีจะมีโทษหนักขึ้น หากมีคนตายก็จะยิ่งมีโทษหนักขึ้นไปอีก และกรณีที่มีการทำประกันภัยภาคสมัครใจ หากพบว่ามีแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันจะไม่จ่ายเงิน ซึ่งช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2561 พบว่า มีกรณีประกันไม่จ่ายรวมแล้วประมาณ 9 - 14 ล้านบาท ดังนั้น หากดื่มแอลกอฮอล์แล้วอย่าขับรถ หากขับไปเกิดอุบัติเหตุจะมีโทษหนักมาก และประกันฯ ไม่จ่ายเงิน ทั้งนี้ หากพบว่ามาตรการนี้ได้ผลดีก็จะขยายดำเนินการตลอดทั้งปี
พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการกองแผนงานกิจการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า ตำรวจจะดู 2 เรื่อง คือจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุ ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุมีคนเจ็บแล้วจะต้องวัดระดับแอลกอฮอล์ทั้ง 2 ฝ่าย หากเป่าไม่ได้ก็จะส่งตัวไปให้แพทย์ตรวจเลือดที่โรงพยาบาล เพื่อให้ดำเนินการตรวจเลือดวัดระดับแอลกอฮอล์ทุกราย และต้องขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่ช่วยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ปี 2560 มีคนเสียชีวิต 440 คน บาดเจ็บนอน รพ. 4,141 ราย สูงสุดในวันที่ 13 เม.ย. คิดเป็นร้อยละ 21 สูงสุดในกลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์ และเป็นถนนสายรอง ช่วงเวลาที่เกิด 15.00-20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่กฎหมายอนุญาตให้ขายสุราได้ ทำให้เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติสูงถึงร้อยละ 43 นอกจากนี้ ยังพบว่าในจำนวนผู้บาดเจ็บมีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และดื่มสุรา 1,669 ราย ดังนั้น ปี 2560 จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกแห่ง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการออกตรวจเข้มข้นก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะพื้นที่จัดกรรมกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 60 มีการสุ่มตรวจไป 3,264 แห่ง พบการทำผิดจำนวนมากทั้งการโฆษณา ลด แลก แจก แถม ขายในพื้นที่ห้ามขาย ขายให้เด็ก เป็นต้น ในจำนวนนี้สามารถส่งดำเนินคดีได้ 159 ราย