สัตวแพทย์ ย้ำ “ลูกหมา - ลูกแมว” เพิ่งเกิด พาไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าปีแรก 2 ครั้ง จากนั้นฉีดประจำปีละ 1 ครั้ง แนะคุมกำเนิดสัตว์เลี้ยงด้วย ป้องกันแพร่พันธุ์โดยไม่รู้ตัว ส่งผลฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุม
วันนี้ (2 เม.ย.) น.สพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงต้องพาไปฉีดบ่อยครั้งแค่ไหนถึงจะมีภูมิต้านทานต่อโรค ว่า กรณีสัตว์ที่เพิ่งเกิดประมาณ 2 - 4 เดือนต้องนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในปีแรกจำนวน 2 ครั้ง หากไม่ทราบว่าได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่ ให้ถือว่าเป็นการฉีดครั้งแรก โดยจะฉีดเข็มที่ 2 เว้นช่วงจากเข็มแรกประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ตามใบนัดของสัตวแพทย์ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่พาไปฉีดวัคซีน เรื่องคุมกำเนิดก็สำคัญ เจ้าของที่เลี้ยงต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบ เพราะหากปล่อยให้สัตว์เลี้ยงแพร่พันธุ์มีลูกจะควบคุมดูแลได้มากน้อยแค่ไหน อย่างที่ผ่านมาพบคนเลี้ยงสุนัขสำหรับเฝ้าไร่นา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งจะเลี้ยงแบบกึ่งปล่อย ทำให้มีความเสี่ยงมาก เพราะไม่ทราบได้เลยว่า เขาจะออกไปแพร่พันธุ์ มีลูกมากน้อยแค่ไหน และได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ เจ้าของเองก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มีกี่ตัวที่ตัวเองเลี้ยงไว้ เมื่อต้องนำไปฉีดวัคซีนก็ทำให้ฉีดไม่ครบ
น.สพ.พรพิทักษ์ กล่าวว่า จริงๆ หน่วยงานรัฐมีการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้ามาตลอด อย่างสมัยก่อนจัดรณรงค์กันแค่ปีละ 1 ครั้ง แต่ปัจจุบันมีการรณรงค์ปีละ 2 ครั้ง และร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้ความรู้แก่คนในชุมชนต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลายคนรู้เรื่องรับทราบข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่ตระหนักอย่างเพียงพอ ยกตัวอย่าง เจ้าของวัวเนื้อ เมื่อพบว่าสัตว์ตัวเองตาย แต่ก็เสียดาย บางรายนำไปปรุงสุกรับประทานก็มี ซึ่งเมื่อเข้าไปสอบถามได้รับคำตอบว่า ปรุงสุกด้วยความร้อนไม่เป็นอะไร จริงๆ ไม่ใช่แค่การปรุงสุกแล้วจะไม่ติดเชื้อ เพราะแม้ตามหลักการจะระบุว่าต้องนำเนื้อไปผ่านการทำความร้อนให้สุกด้วยอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลานาน 5 - 10 นาทีก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เนื่องจากหากไปสัมผัสถูกเนื้อสดๆ ก่อนที่จะนำมาปรุงสุกก็ย่อมมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ และถามว่าจะเชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหน