xs
xsm
sm
md
lg

กาฬสินธุ์ประกาศ 8 อำเภอเขตพิษสุนัขบ้า ส่งหมาติดเชื้อ 40 ตัวเข้าด่านกักกันสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - กาฬสินธุ์ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้า 8 อำเภอ ขณะที่ปศุสัตว์จังหวัดเร่งปูพรมฉีดวัคซีน พร้อมส่งสุนัขติดเชื้อ 40 ตัวเข้ากักกันศูนย์กักกันสัตว์ชั่วคราวนครพนม

วันนี้ (2 แม.ย.) เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอยางตลาดร่วมกันนำสุนัขสายพันธุ์ต่างๆ จำนวน 40 ตัว จากพื้นที่บ้านนาขาม ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า และเจ้าของไม่มีสถานที่กักกันส่งไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวหรือด่านกักกันสัตว์ จ.นครพนม

นายวันชัย ถวิลไพร ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ตรวจพบสุนัขติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจำนวน 33 ตัวอย่าง และสถานการณ์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จนถึงปัจจุบันตรวจพบ 21 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 8 อำเภอ ประกอบด้วย อ.กุฉินารายณ์ อ.กมลาไสย อ.ดอนจาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ยางตลาด อ.นาคู อ.ร่องคำ และ อ.นามน พร้อมทั้งประกาศให้ทั้ง 8 อำเภอเป็นพื้นที่โรคระบาดพิษสุนัขบ้าชั่วคราว

ล่าสุดตรวจพบในพื้นที่บ้านนาขาม ต.คลองขาม อ.ยางตลาด ได้นำสุนัขที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้านจำนวน 40 ตัวส่งไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวหรือด่านกักกันสัตว์ จ.นครพนม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ส่งสุนัขที่ได้รับเชื้อในพื้นที่บ้านเก่าน้อย ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จำนวน 22 ตัว และพื้นที่ ต.หลุบ อ.เมืองกาฬสินธุ์ อีกจำนวน 17 ตัว ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวแล้วเช่นกัน


นายวันชัยกล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวทางสำนักงานปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ ได้เร่งแก้ไขปัญหาตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ “สองบวกหนึ่ง” คือ การประกาศเขตระบาดชั่วคราวรัศมี 1-5 กิโลเมตรจากจุดที่พบเชื้อ สุนัขทุกตัวต้องฉีดวัคซีน 100 เปอร์เซ็นต์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งปูพรมฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์

ปัจจุบันในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ มีสุนัขที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของรวมทั้งหมด 130,798 ตัว ส่วนแมวมีทั้งหมด 15,925 ตัว รวม 146,723 ตัว โดยขณะนี้ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนสุนัขและแมวไปแล้ว 90,000 ตัว คาดว่าจะสามารถฉีดครอบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2561 นี้ ส่วนพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคทางสำนักงานปศุสัตว์จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะในช่วงเวลา 6 เดือน พร้อมออกหน่วยบริการผ่าตัดทำหมั่นให้กับสุนัขและแมวฟรีในพื้นที่ต่างๆ เพื่อควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมว โดยเน้นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ สัตว์ด้วยโอกาสและสัตว์ในพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงความต้องการทำหมั้นสัตว์เลี้ยงของประชาชน

นายวันชัยกล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้คือสุนัขถูกสุนัขที่ติดเชื้อกัดแล้ว แต่เจ้าของกลับปล่อยละเลยขาดความรับผิดชอบ เพราะอาจจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคมากขึ้นได้ ดังนั้น พี่น้องประชาชนทุกคนต้องตระหนักและหมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง ต้องรู้จักทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม หากพบสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขมีความผิดปกติ เช่น คลุ้มคลั่ง ดุร้าย จำเจ้าของไม่ได้ กัด ขากรรไกรแข็ง น้ำลายฟูมปาก น้ำลายไหล เห่าหอน เจ้าของสัตว์จะต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ หรือสัตวแพทย์และคลินิกที่อยู่ใกล้ทันที ทั้งนี้ หากเจ้าของไม่มีสถานที่กักกันสัตว์เลี้ยงของตนเองก็ให้ประสานยังสำนักงานปศุสัตว์ เพื่อที่จะจัดหาสถานกักกันให้ต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น