กรมวิทย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ “แบคทีเรีย” แบบผงและอัดเม็ด ช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย ยุงลายสวน และยุงก้นปล่อง ทางเลือกช่วยลดไข้เลือดออก มาลาเรีย ซิกา ไข้ปวดข้อยุงลาย ชี้ไม่เป็นพิษต่อชีวิตอื่น
วันนี้ (22 มี.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีสถานการณ์การติดเชื้อมาลาเรียสูงบริเวณตามแนวชายแดน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ เป็นป่าเขาเหมาะแก่การเจริญเติบโตของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย อันเกิดจากเชื้อพลาสโมเดียมชนิดต่างๆ ซึ่งพบแพร่กระจายอยู่ในประชาชนบริเวณชายแดนที่มีการอพยพอยู่ตลอดเวลา โดยมีรายงานการดื้อยาของเชื้อนี้มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าพบการดื้อยาของเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม ต่อยาอาร์ตีมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษามาลาเรียในพื้นที่ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม และ กัมพูชา โดยเฉพาะที่บริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา มีรายงานว่าพบเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม ที่สามารถต้านยารักษามาลาเรียได้เกือบทุกชนิด เรียกว่า “ซูเปอร์มาลาเรีย” ซึ่งถ้าหากการดื้อยานี้แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค ก็จะทำให้การควบคุมและรักษาโรคมาลาเรียเป็นไปได้ยากมากขึ้นและโรคไข้เลือดออก โรคซิกาจากยุงลาย เป็นต้น
นพ.สุขุม กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จึงได้ทำการศึกษาข้อมูลยุงพาหะนำโรคมาลาเรียทั้งด้านชนิด, การแพร่กระจาย, ความหนาแน่นในพื้นที่ชายแดน จัดทำเป็นฐานข้อมูลในลักษณะของแผนที่ GIS เพื่อเป็นข้อมูลในการควบคุมยุง อีกทั้งยังได้ศึกษาพัฒนาวิธีการควบคุมทางชีววิธี ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงรูปแบบผงและแบบอัดเม็ด ซึ่งเป็นการนำสิ่งมีชีวิตมาควบคุมกำจัดลูกน้ำยุง โดยใช้แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงชนิด Bacillus thuringiensis var. israelensis (Bti) และ Bacillus sphaericus (Bsph) หลักการคือเมื่อลูกน้ำยุงกินแบคทีเรียเหล่านี้เข้าไป ผลึกโปรตีนที่อยู่ภายในเซลล์แบคทีเรียจะก่อให้เกิดพิษกับลูกน้ำยุง พิษจะเข้าไปทำลายระบบทางเดินอาหารทำให้ลูกน้ำยุงตายอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญผลึกโปรตีนนี้สามารถสลายตัวไปเองตามธรรมชาติและไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่น
“แบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดนี้ ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถผลิตได้อย่างครบวงจร หรือสามารถติดต่อขอซื้อได้จาก บริษัท ทีเอฟไอ กรีนไบโอเทค จำกัด ชื่อผลิตภัณฑ์ “มอสแท็บ (Mostab)” โทรศัพท์ 032-371357-8 ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปผลิตเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยง่ายขึ้น” นพ.สุขุม กล่าว