ผู้ตรวจราชการ ศธ. มึนธนาคารใช้ระบบ GIRO มีแค่เลขที่บัญชีเบิกจ่ายเงิน ไม่ระบุชื่อ เตรียมรายงาน ปลัด ศธ. ประสานขอ สเตตเมนต์ เสนอตั้งกรรมการเพิ่มช่วยตรวจสอบเอกสาร
นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า กองทุนเสมาฯ มีการเปิดบัญชีไว้ 2 บัญชี ซึ่งบัญชีที่ 1 ชื่อ “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต” เป็นบัญชีฝากประจำซึ่งเป็นเงินประเดิมกองทุน 600 ล้านบาท โดยให้อำนาจคณะกรรมการกองทุนเสมาฯ ตัดสินใจว่าจะนำเงินจำนวนนี้ไปฝากที่สถาบันการเงินใด ซึ่งที่ผ่านมาจะนำไปฝากไว้กับธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง อย่างไรก็ตาม บัญชีนี้จะระบุให้ใช้แค่ดอกผลเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงศึกษาธิการ
สำหรับบัญชีที่ 2 ชื่อ “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเพื่อใช้จ่าย” เป็นบัญชีเงินฝากประจำ อยู่ที่ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น โดยบัญชีจะเป็นบัญชีที่รับเงินดอกเบี้ยจากบัญชีที่เงินสมทบ หรือเงินบริจาคต่างๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการเสมาพัฒนาชีวิต เพราะฉะนั้น การเบิกจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องออกจากบัญชีนี้เท่านั้น ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้ข้อสังเกตว่าเหตุใดมีการเบิกจ่ายเงินออกไปจากทั้ง 2 บัญชี เพราะโดยหลักการเป็นไปไม่ได้
นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า ส่วนที่ยังไม่สามารถตรวจสอบชื่อเจ้าของบัญชีผู้รับโอนเงินได้ทั้งหมด เนื่องจากธนาคารเปลี่ยนใช้ระบบ GIRO ซึ่งเป็นโปรแกรมเบิกจ่ายเงินที่ธนาคารคิดขึ้น โดยไม่มีการระบุชื่อผู้รับโอน มีแค่เลขบัญชีและจำนวนเงินที่ธนาคารส่งไปให้เท่านั้น แต่จากการตรวจสอบโดยไล่ดูย้อนหลังคาดว่าน่าจะมีบัญชีมากกว่า 22 บัญชีที่ได้แจ้งความไปก่อนหน้า และยังมีบางบัญชีที่ไม่สามารถหาเจ้าของได้หรือปิดบัญชีไปแล้วอีกหลายสิบบัญชี และในบรรดารายชื่อเจ้าของบัญชีที่ตรวจสอบพบแล้วว่าไม่เกี่ยวข้อง บางคนเป็น 10 บัญชี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลบางรายการขาดความชัดเจน จะรายงานถึง นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ประสานไปยังธนาคารกรุงไทย ขอสำเนาการเบิกจ่ายเงิน สเตตเมนต์ทั้งหมด รวมทั้งจะเสนอขอตั้งกรรมการเพิ่มเติม เนื่องจากมีข้อมูลที่ต้องตรวจสอบจำนวนมาก ต้องดูรายละเอียดเป็นรายปี จำนวนคนที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ อีกทั้งต้องการเร่งสรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทันวันที่ 30 มี.ค. นี้ เนื่องจาก พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ผู้เกษียณอายุราชการไปแล้ว จะต้องตั้งไม่เกิน 180 วันนับจากวันที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งกรณีนี้อาจจะมีข้าราชการที่เพิ่งเกษียณเข้าไปร่วมด้วย
“ต้องมีคนรับผิดชอบเบื้องต้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่ประมาทเลินเล่อ และกลุ่มผู้ทุจริต ซึ่งกรณีผู้บริหารระดับสูงอาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่อ ขณะที่กลุ่มผู้ทุจริต ผมคิดว่าไม่ได้ทำคนเดียว แต่ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ เพราะเรื่องแบบนี้คนยิ่งมาก ความยิ่งแตกไวคงไม่ปล่อยยาวมาถึง 10 ปีได้ และมีอีกประเด็นที่จะเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ สั่งการขยายประเด็นการสืบสวนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการโอนเงินเข้าบัญชีสถานศึกษา เพราะตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พ.ศ. 2550 กำหนดให้โอนเงินเข้าบัญชีนักเรียนเป็นรายบุคคล แต่จากข้อมูลเช่น ปี 2552 พบว่า เป็นการโอนเข้าสถานศึกษา ซึ่งตรงนี้ต้องรายงานมาว่าโอนให้เด็กอย่างไร ถ้าเคลียร์เรื่องนี้ได้เร็วก็จะเป็นการสร้างความตระหนัก ต่อไปจะทำให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้น” นายอรรถพล กล่าว