กรมควบคุมโรค เผยยอดผู้เสียชีวิตจาก “พิษสุนัขบ้า” เพิ่มเป็น 5 รายแล้ว ล่าสุด ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากแมวที่เลี้ยงกัด ย้ำ หากถูกสัตว์เลี้ยงหรือหมาแมวกัดข่วนให้รีบทำความสะอาด กักสัตว์เฝ้าระวังอาการ และมาฉีดวัคซีนป้องกัน
วันนี้ (16 มี.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ตนได้รับรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จาก 4 ราย เพิ่มเป็น 5 รายแล้ว โดยรายล่าสุดเกิดขึ้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถูกแมวที่ตนเองเลี้ยงกัดเมื่อ 2 เดือนก่อน แต่ไม่ได้มารับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ส่วนเด็กพม่าถูกสุนัขกัดใน จ.เมียวดี ประเทศพม่า อยู่ระหว่างรอผลส่งตรวจทางห้องปฏิบัติ แต่ก็ไม่ได้นับรวมเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
“กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัขหรือแมวในจำนวนที่พอเหมาะ คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบริเวณบ้าน อย่าปล่อยออกไปนอกบ้านโดยไม่ดูแล เพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมถึงเมื่อประชาชนถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างบริเวณบาดแผลหลายๆ ครั้งอย่างเบามือ ใส่ยา โดยทาหลังจากการล้างแผลและซับให้แห้ง กักหมา 10 วัน จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาการตัดสินใจรับวัคซีนหรือไม่ และต้องมาฉีดวัคซีนให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง” อธิบดี คร. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลตัวเลขผู้เสียชีวิตจะมากกว่าปี 2560 ที่พบ 11 รายหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย คือ 1.คน เมื่อถูกสัตว์กัด เลีย ข่วน และรีบมาพบแพทย์ฉีดวัคซีนป้องกันก็จะลดปัญหาได้ เพราะหากละเลยต่อให้ภาครัฐเฝ้าระวังแค่ไหนก็ยาก เหมือนผู้เสียชีวิตทั้ง 5 รายไม่ได้มาฉีดวัคซีน และ 2.สถานการณ์ในสัตว์ ต้องให้กำลังใจทางกรมปศุสัตว์และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำลังดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมอยู่ ดังนั้น หากทุกฝ่ายดำเนินการทุกภาคส่วน สถานการณ์โรคก็น่าจะดีขึ้น
“สำหรับปี 2560 พบเสียชีวิต 11 คนก็ไม่ได้กระจุกตัวหรือเกิดขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกัน เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวที่แตกต่าง เหมือนกรณีเสียชีวิตล่าสุดที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ติดเชื้อจากแมวเมื่อ 2 เดือนจนเสียชีวิต แสดงว่าระยะเวลาฟักตัวจนก่อโรคใช้เวลา 2 เดือน ซึ่งบางราย 6 เดือนก็มี สถานการณ์เมื่อปี 2560 ช่วงแรกเกิดขึ้นประมาณ ก.พ.-เม.ย. ก็พบผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งหนึ่ง แต่มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน และทำงานเชิงรุกทุกภาคส่วน จนทิ้งช่วงไป มาพบเพิ่มอีกครั้งตอนปลายไตรมาส 3 ต่อไตรมาส 4 อีกครึ่งหนึ่ง เห็นได้ว่า มีการทิ้งช่วง เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ ประชาชนมีความตระหนัก ดังนั้น ปี 2561 หากประชาชนเข้าใจและตระหนักในการเฝ้าระวังและป้องกันตัวร่วมกับภาครัฐ สถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า ส่วนข้อมูลมีคนที่ถูกสุนัขกัดมาฉีดวัคซีนมีการรายงานเข้าระบบอย่างปี 2560 มีประมาณ 2.8 แสนคน แต่คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่คือคนที่ไม่มาฉีด อย่าง 5 รายที่ตายปีนี้ก็ไม่มาฉีด อัตราตายเท่ากับ 100% ทั้งนี้ข้อมูลปี 2561 ที่รายงานคนถูกกัดมาฉีดวัคซีนเข้าระบบเดือนม.ค. 25,519 คน ก.พ. 18,966 คน และมี.ค. 10,128 คน ซึ่งไม่ได้มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา