กรมควบคุมโรคเตรียมหารือกรมปศุสัตว์ อปท. กรมประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนัก ปชช. ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า หากถูกกัดต้องฉีด พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดตามกฎหมาย ย้ำพื้นที่เสี่ยงต่างพื้นที่ระบาด ชี้ พื้นที่เสี่ยงพบคนตาย พื้นที่ระบาดไม่พบคนตายต้องคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าระบาด ว่า กรมควบคุมโรค จะมีการประชุมร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 14 มี.ค. นี้ ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อหารือร่วมกันว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการสร้างความตระหนักเรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้า และวันที่ 15 มี.ค. จะประชุมโครงการพระปณิธาน คือ โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงเป็นประธาน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ซึ่งเคยมีปัญหาอุปสรรค แต่ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นทั่วประเทศดำเนินการ เป็นจำนวนเงิน 310 ล้านบาท และในส่วนของกรมปศุสัตว์ก็ได้ตั้งงบประมาณในการดำเนินการเรื่องเชิงระบาด
“ข้อมูลที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในขณะนี้ คือ พื้นที่เสี่ยงกับพื้นที่ระบาดจะแตกต่างกัน โดยพื้นที่เสี่ยง คือ พื้นที่ที่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ส่วนพื้นที่ระบาดประกาศเพื่อวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1. ห้ามย้ายสัตว์เข้ามา 2. ห้ามย้ายสัตว์ออกไป และ 3. กรณีสัตว์ตายต้องจัดการให้เป็นไปตามมาตรการ ดังนั้น ในกรณี 2 จังหวัดที่มีการประกาศ คือ นนทบุรี และ กทม. เป็นกรณีที่ตรวจพบสัตว์ที่ตายและตรวจเจอเชื้อ แต่ยังไม่พบกรณีผู้เสียชีวิต ส่วนพื้นที่เสี่ยงนั้นจะเป็นเชิงบริหารจัดการกรณีมีคนเสียชีวิต ก็จะเรียกว่าพื้นที่เสียชีวิต เพื่อระดมคนไปจัดการ ไม่อยากให้เกิดความแตกตื่น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า พื้นที่ระบาด หัวใจสำคัญคือการควบคุมในสัตว์ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้าย เรื่องนี้จะเป็นบทบาทของกรมปศุสัตว์ ปัญหาของการฉีดในสัตว์ คือ จะมีทั้งสัตว์ที่มีเจ้าของกับที่ไม่มีเจ้าของ ก็ต้องยอมรับว่ามีบางส่วนที่ไม่ยอมนำสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีน ซึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของ พ.ร.บ. โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องเอามาฉีด ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะสุนัขที่กัดคนและเสียชีวิตมักพบว่า เป็นสุนัขมีเจ้าของ และข้อมูลที่ผ่านมาก็พบว่า สุนัขที่ตายและพบเชื้อกว่าร้อยละ 50 เป็นสุนัขมีเจ้าของ ส่วนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งเดิมอาจเคยมีเจ้าของแต่ถูกทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของตั้งแต่ต้น ดังนั้น หากสุนัขมีเจ้าของไปกัดคนอื่น ผู้ที่ถูกกัดฟ้องได้ทั้งแพ่งและอาญา หรือสุนัขไปเพ่นพ่าน ก็ยังมีกฎหมายที่เอาผิดในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสะอาด ซึ่งได้ให้อำนาจในส่วนของท้องถิ่นดำเนินการ ซึ่งในส่วน พ.ร.บ. สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ก็ให้อำนาจท้องถิ่นจัดการเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงคนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ว่า ยังมีรอผลยืนยันอีกหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคทางสมอง ซึ่งต้องมีการยืนยันเชื้อ แต่ล่าสุดยังคงเป็น 3 ราย คือ ที่สงขลา สุรินทร์ และตรัง จังหวัดละ 1 ราย ส่วนรายอื่นๆ ยังเป็นระบบรายงานโรค ต้องอาศัยในเรื่องของการสอบสวนโรค และผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ โดยยังบอกไม่ได้ว่า 3 รายในเวลาเกือบ 3 เดือนนั้นมากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่พบผู้เสียชีวิต 11 ราย ในปี 2560 เพราะยังต้องพิจารณาหลายปัจจัย แต่ที่อยากสื่อสาร คือ หากถูกกัด หรือมีความเสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ต้องรีบมา เพราะตัวเลขที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากมารับการฉีดวัคซีนช้าเกินไป และที่อยากให้เข้าใจคือ เรื่องของการเกิดโรคในสัตว์นั้น