xs
xsm
sm
md
lg

สาธิตจุฬาฯ เปิดตัวแบบทดสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก ป.6 ตามกรอบมาตรฐาน CEFR

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2561 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จัดงานแถลงข่าวโครงการวิจัยและพัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามกรอบมาตรฐานอ้างอิงสากลยุโรป (CEFR) โดยมี ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ, รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ดร.จิรดา วุฒฑยากร อาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุุฬาฯ และ ผศ.ทินกร บัวพูล ผู้อำนวยการ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม เข้าร่วมการแถลงข่าว

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการทำแบบทดสอบเพื่อวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียน ป.6 ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ รร.สาธิตจุฬาฯ สถาบันภาษา จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อลดการนำเข้าแบบทดสอบที่มีค่าใช้จ่ายสูง และออกแบบให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย

“ที่ผ่านมา คณาจารย์ของเราพบว่า ปัจจุบันสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษต้องใช้แบบทดสอบมาตรฐาน CEFR ระดับ A1 จากต่างประเทศ ที่มีราคาสูงถึงชุดละ 1,700 บาท หากคูณด้วยนักเรียนร้อยคนก็คิดเป็นเงินหลายแสนบาท และถ้ามองว่าถ้านักเรียนทั้งประเทศเป็นหลักล้านคนก็จะคิดเป็นเงินนับพันล้านบาท การพัฒนาตรงนี้ขึ้นมาจึงนอกจากจะช่วยให้เรามีแบบทดสอบมาตรฐานใช้เองแล้ว ยังถือเป็นการช่วยประเทศชาติด้วย” ผศ.ทินกร ผอ.ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมเผย และว่ากำลังพิจารณาเปิดรับโรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจร่วมใช้แบบทดสอบนี้ด้วย

ด้าน รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวว่า เดิมทีความเชื่อ คือ แบบทดสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษต้องมาจากตะวันตก เช่น เคมบริดจ์ หรือ อีทีเอส แต่แบบทดสอบนี้ถูกพัฒนาขึ้นให้เหมาะสมกับพื้นฐานของเด็กและวัฒนธรรมให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนี้ เป้าหมายอีกประการของการพัฒนาแบบทดสอบนี้คือ การที่แบบทดสอบสามารถสะท้อนพัฒนาการของผู้เรียน ให้ทราบถึงจุดเด่นและจุดด้อย กล่าวคือ เดิมทีการเรียนภาษาอังกฤษคือ การเรียนเพื่อสอบ (Learning for Testing) ซึ่งต้องพัฒนาไปสู่การสอบเพื่อการเรียนรู้ Testing for Learning ให้ได้

“ที่ผ่านมา เราเรียนเพื่ออะไร คือเรียนเพื่อไปสอบ แต่ตอนนี้เรากำลังคิดกลับด้าน คือ Testing for Learning ที่เราทดสอบเพื่อให้เห็นศักยภาพในการสื่อสารของเด็ก บวกกับข้อบกพร่อง จุดอ่อนที่เกิดขึ้น ข้อบกพร่องนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงตัวของผู้เรียน และการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนได้ ถ้าข้อมูลขนาดใหญ่พอ เห็นภาพของโรงเรียนแต่ละแบบ เห็นภาพห้องเรียน เห็นภาพของแต่ละภูมิภาค แต่ละพื้นที่ เราจะเห็นข้อบกพร่องได้ชัดขึ้นว่า เราจะเสริมจุดแข็ง และแก้ไขจุดอ่อนของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ยังไง นอกเหนือจะการติวๆๆ เพื่อให้ได้คะแนนสูงขึ้น” คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ระบุ

ด้าน ผศ.จิรดา กล่าวว่า แบบทดสอบดังกล่าวไม่เพียงครอบคลุมทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ยังสร้างขึ้นให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น แบบทดสอบที่นำเข้ามาจะมีการกล่าวถึงเทศกาลของชาวตะวันตก เช่น วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ซึ่งเด็กไทยไม่รู้จัก ดังนั้นแบบทดสอบนี้จะมาแก้ปัญหาด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม และว่าโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ถือว่ามีจุดเด่นคือ มีหลักสูตรภาษาไทย หลักสูตรบริติช เคานซิล และหลักสูตรภาษาอังกฤษในระดับชั้นเดียวกัน

“เมื่อเด็กจบทั้งสามหลักสูตรพร้อมกันแล้วในระดับชั้น ป.6 ความสามารถของเด็กแต่ละหลักสูตรแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งแบบทดสอบนี้จะช่วยบอกได้” ผศ.จิรดา กล่าว อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการพัฒนาแบบทดสอบเพื่อเด็กไทย แล้วในส่วนของการเรียนการสอนแบบทดสอบนี้ยังสามารถนำไปใช้ประกอบในการผลิตครูภาษาอังกฤษได้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น