xs
xsm
sm
md
lg

ถามกลับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ผลิตสวยงาม มีกลิ่นหอม ฟังเพลงได้ ช่วยเลิกหรือหนุนให้สูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอชี้ บุหรี่ไฟฟ้าทำสวยงาม มีแบตเตอรี มีสีสัน รสชาติ บางรุ่นฟังเพลงได้ ตั้งคำถามเครื่องมือช่วยเลิกหรือหนุนให้สูบบุหรี่ ยันนิโคตินอันตราย ไม่เป็นมิตรกับร่างกาย

วันนี้ (2 มี.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการสัมมนาวิชาการ “ตีแผ่ความจริง บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายอย่างไร” ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มการแพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะเยาวชน จากข้อมูลการสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนระดับโลก อายุ 13 - 15 ปี ในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า การใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 3.3 โดยเป็นเยาวชนชาย ร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิง ร้อยละ 1.9 และมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีความปลอดภัย ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าไม่ใช่เครื่องมือช่วยในการเลิกบุหรี่ และออกแถลงการณ์เป็นห่วงถึงอันตรายทั้งผู้สูบและผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ เด็ก และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าส่วนมากมีสารนิโคติน เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงสามารถเสพติดได้ง่าย และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสมองของวัยรุ่น ทำลายสมาธิและการเรียนรู้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ และแนะนำให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันพบว่าประเทศในอาเซียน นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีสิงคโปร์ กัมพูชา และ บรูไน ที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศเช่นกัน

“เรื่องนี้ต้องแยกออกเป็น 2 อย่าง เครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวเครื่องที่แน่นอนว่าไม่มีนิโคติน แต่เป็นเครื่องมือที่คนใช้จะเลือกหยิบสารตัวใดมาสูบก็ได้ นี่คือกลยุทธ์เอาเครื่องมือนำเพื่อให้เกิดการสูบ โชคดีที่กระทรวงพาณิชย์เห็นความสำคัญห้ามนำเข้าเครื่องมือดังกล่าว ส่วนนิโคตินนั้นมีกฎหมายยาสูบคอยดูแลอยู่แล้ว” นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีวิวัฒนาการอย่างมาก ทั้งมีแบตเตอรี ด้ามจับยาว สีสันสวยงาม มีรสชาติต่างๆ นานา โฆษณาหอมหวาน อร่อย ทั้งยังมีรุ่นที่มีบลูธูทที่สามารถเชื่อมต่อฟังเพลง ถามว่า วิวัฒนาการเช่นนี้เพื่อต้องการให้เป็นอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่หรือเริ่มบุหรี่กันแน่ เป็นการสะกดจิตวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่มีฮอร์โมนออกซิโตซินสูงโดยเฉพาะวัย 14 - 16 ปี ทำให้รักเพื่อน ตามเพื่อน ต้องการการยอมรับ เป็นกลุ่มที่กล้าได้ไม่กลัวเสีย นอกจากนี้ ยังพบการอ้างอิงข้อมูลว่ารสชาติต่างๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า อาทิ เมนทอล ช็อกโกแลต วานิลลา และอีกมากมาย เป็นสิ่งที่องค์การอาหารและยา (FDA) รับรองว่าเป็นสิ่งที่สามารถกินได้ ใช่รับรองว่ากินได้ แต่ไม่ได้รับรองให้เอาไปเผาลงปอด ก็เหมือนเกลือ เหมือนพริกที่เป็นของที่กินได้ แต่จะเอาไปเอาลงปอดไม่ได้ แม้แต่ออกซิเจนซึ่งเป็นของดีต่อร่างกาย แต่ถ้าคนปกตินึกจะอัดออกซิเจนลงปอดเลยก็ไม่ได้ เพราะทำให้ร่างกายเกิดความไม่สมดุล นอกจากนี้ ที่อ้างว่านิโคตินเป็นศูนย์นั้นก็ไม่จริง พูดไม่หมด แต่ที่จริงคือ 0.03 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ซึ่งการได้รับนิโคตินในปริมาณน้อยไปเรื่อยก็เหมือนสะสม ราดน้ำมันไปเรื่อย จุดติดง่ายมาก

“ยืนยันว่านิโคตินเป็นสารอันตราย ไม่เคยเป็นมิตรกับร่างกาย รับเข้าไปเพียง 7 วินาทีก็เข้าไปที่สมองได้เลย กระตุ้นให้เกิดการอยากสูบไปเรื่อย ๆ มีการศึกษาพบร้อยละ 27 ที่ให้บุหรี่ไฟฟ้าหรือแม้แต่บุหรี่ปกติจะนำไปสู่การใช้สารเสพติดประเภทอื่นด้วย เพราะฉะนั้นบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ แต่เพิ่มนักสูบหน้าใหม่มากกว่านี่คือสิ่งที่เรากลัวมากกว่า” นพ.สุริยเดว กล่าว

พญ.ปานทิพย์ โชติเบจมาภรณ์ ผอ.สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า ส่งที่ธุรกิจพูดนั้นเป็นเพียงข้อมูลด้านเดียว 1 หรือ 2 ชุดจาก 100 ชุดข้อมูล และที่พูดออกมาก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจจากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศพบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อร่างกาย โดยมีสารนิโคตินทำให้เกิดการเสพติด ก่อมะเร็งปอด มีสารกลุ่ม คาร์บอนนิลคอมพาวด์ ก่อโรคมะเร็งกระทบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเต้นของหัวใจหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง การปรับตัวของหัวใจการเสียหายของเซลล์หัวใจ และส่งผลให้มีการเกาะตัวของเกล็ดเลือดอันเป็นสาเหตุของเส้นเลือดอุดตัน และควันจากบุหรี่ไฟฟ้าก่อฝุ่นละออกขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน


กำลังโหลดความคิดเห็น