MGR Online - ศาลแพ่งพิพากษาให้กองทัพบกชดใช้เงิน 1.87 ล้าน เพื่อเยียวยามารดา “อดีต ส.ท.กิตติกร” ถูกทำร้ายเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทหาร จ.สุรินทร์ เมื่อปี 2559 ขณะที่ทนายเล็งยื่นอุทธรณ์เยียวยาเพิ่มให้เหมาะสม
ที่ห้องพิจารณา 410 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (22 ก.พ.) ศาลอ่านพิพากษาคดีหมายเลขดำ พ.1131/2560 ที่นางบุญเรือง สุธีรพันธุ์ อายุ 63 ปี มารดาของ ส.ท.กิตติกร สุธีรพันธุ์ บุตรชาย อายุ 25 ปี ที่ถูกทำร้ายเสียชีวิต เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกองทัพบกเป็นจำเลยเรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เรียกค่าเสียหาย เป็นค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ รวมทั้งให้เยียวยาทางจิตใจ จำนวน 18,072,067 บาท กรณีที่ ส.ท.กิตติกร ถูกพลทหารอาสาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้คุมพิเศษและพลทหารซึ่งเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำทหารจังหวัดสุรินทร์ มณฑลทหารบก (มทบ.25) รุมทำร้ายเมื่อเดือน ก.พ. 2559 ในเรือนจำทหาร จ.สุรินทร์ กระทั่งได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อช่วงเช้าวันที่ 21 ก.พ. 2559
โดยกองทัพบกจำเลยได้ต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคดีขาดอายุความและถือเป็นการกระทำโดยส่วนตัวซึ่งผู้เสียชีวิตถูกให้ออกจากราชการก่อนเกิดเหตุ
ขณะที่วันนี้ นางบุญเรือง มารดาของทหารที่เสียชีวิต เดินทางมาพร้อมกับน้องสาว 2 คน และนายปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ด้านอัยการที่รับผิดชอบคดีให้กองทัพบก จำเลย มีเพียงเจ้าหน้าที่มาศาลร่วมฟังคำพิพากษา
ทั้งนี้ ศาลแพ่งพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2559 ส.ท.กิตติกร ที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทหาร ได้ถูกพลทหารอาสาสมัคร สห.ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้คุมพิเศษในเรือนจำกับพลทหารซึ่งเป็นนักโทษ และผู้ต้องหาที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำอีก 3 คน ทำร้ายจนเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อเช้าวันที่ 21 ก.พ. 2559 โดยผลชันสูตรระบุว่าเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายโดยมีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรง และกระเพาะอาหารแตก โจทก์ในฐานะมารดาได้ยื่นฟ้องกองทัพบกจำเลย เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 18,072,067 บาท
โดยประเด็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคดีขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าหน่วยงานต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งการละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ กรณีนี้ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่า พลอาสาสมัคร ชูเกียรติ์ นันทะพันธุ์ ตำแหน่งพลสารวัตร ร้อย.สห. มทบ.25 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้คุมพิเศษที่มีหน้าที่ดูแลผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ โดยขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่สิบเวรดูแลเรือนจำ จึงถือเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย ส่วนพลทหารซึ่งถูกคุมขังอีก 3 คนนั้น ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงและไม่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ใด จึงมิใช่เจ้าหน้าที่ของจำเลย เพียงแต่พลอาสาชูเกียรติ์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมทำร้ายได้สั่งให้พลทหารทั้งสามทำร้ายผู้เสียชีวิต โดยไม่ว่าพลทหารอาสานั้นจะเป็นผู้สั่งหรือผู้กระทำก็ถือว่าได้กระทำละเมิดต่อผู้เสียชีวิตแล้ว ส่วนอายุความของการฟ้องคดีนั้น พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับอายุความการฟ้องคดีไว้ จึงให้ถือเอาอายุความ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 ซึ่งคดีนี้อายุความ 10 ปี โดยเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 9 มี.ค. 2560 คดีไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ประเด็นต้องวินิจฉัยต่อมาว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นเท่าใด โดยโจทก์ได้ยื่นค่าทำศพจำนวน 200,000 บาทเศษ ระบุเป็นค่าโลงเย็น และค่าจัดงานต่างๆ แต่โจทก์ไม่มีใบเสร็จหรือเอกสารยืนยันจำนวนที่ร้องขอ จึงเป็นการร้องขอค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ศาลเห็นควรให้จำเลยชดใช้ค่าปลงศพ 1.2 แสนบาท แต่ได้ความว่าภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้ชดใช้เยียวยาให้โจทก์แล้วเป็นเงินเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 50,000 บาท ศาลจึงให้หักเงินออกจากจำนวนที่ให้ชดใช้ด้วย คงเหลือเงินที่จำเลยต้องชดใช้ค่าปลงศพให้แก่โจทก์ 70,000 บาท ส่วนค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากบุตรที่เสียชีวิต โจทก์ได้ร้องขอเป็นเงิน 6.6 ล้านบาท โดยระบุว่าผู้เสียชีวิตขณะรับราชการได้เงินเดือน 13,820 บาท และยังได้ประกอบอาชีพเสริมขายเสื้อผ้ากีฬาที่ตลาดอีกเดือนละ 30,000 บาท โดยบุตรจะแบ่งเงินรายได้ให้โจทก์เดือนละ 15,000 บาท ซึ่งตัวโจทก์ประเมินอายุตนเองที่จะดำรงชีวิตอยู่จนถึง 90 ปีนั้น ศาลแพ่งเห็นว่า ตามทางนำสืบได้ความว่าผู้เสียชีวิตได้ถูกให้ออกจากราชการก่อนเกิดเหตุแล้ว ขณะเดียวกัน โจทก์ได้ตอบคำถามการซักค้านว่าเคยป่วยเป็นโรคเบาหวาน และหลังจากบุตรเสียชีวิตก็มีอาการของโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้น ศาลจึงเห็นสมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1.8 ล้านบาท และสุดท้ายที่โจทก์ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นเงินร่วม 10 ล้านบาทนั้น ศาลเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 25 บัญญัติว่าบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือจากการกระทำผิดทางอาญาของบุคคลอื่น มีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ หมายความว่าโจทก์ในฐานะผู้เสียหายก็สามารถใช้สิทธิทางศาลในการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้อยู่แล้ว ศาลจึงไม่ได้กำหนดค่าเสียหายตามที่โจทก์ร้องขอในส่วนนี้
ศาลแพ่งจึงพิพากษาว่า ให้กองทัพบกจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,870,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันกระทำละเมิดวันที่ 21 ก.พ. 2559 และให้ชดใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ด้วยเป็นเงินอีก 30,000 บาท โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน
ด้านนายปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะทนายความโจทก์ ได้กล่าวอธิบายถึงผลคำพิพากษาว่า ศาลพิพากษาให้กองทัพบกจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย โดยมีคำบังคับไว้ในท้ายคำพิพากษาว่าให้ชดใช้ภายใน 30 วัน แต่เนื่องจากโจทก์ก็กำลังพิจารณาแล้วทางที่จะยื่นอุทธรณ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับความรับผิดของผู้บังคับบัญชาเรือนจำ รวมทั้งจำนวนค่าเสียหายบางส่วนที่ยังไม่ตรงตามจำนวนที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น ในการชดใช้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นทันทีซึ่งก็เป็นไปได้ว่าฝ่ายกองทัพบกยังอาจจะยื่นอุทธรณ์ การชดใช้ค่าเสียหายก็คงต้องรอจนกว่าคดีมีผลถึงที่สุด
นายปรีดายังกล่าวถึงแนวทางที่จะยื่นอุทธรณ์ว่า เรื่องที่ศาลมองว่าผู้บัญชาการเรือนจำ กับผู้บัญชาการของกองทัพ ไม่ได้ทำการประมาทเลินเล่อในการที่จะเข้าไปควบคุม โดยถือว่าทำดีที่สุดแล้วนั้น เรายังติดใจในประเด็นนี้อยู่ โดยตัวคุณแม่เองเห็นว่าเรื่องชีวิตเป็นเรื่องหลัก เรื่องค่าเสียหายเป็นเรื่องรอง อยากให้มองในเรื่องการคุ้มครองและการที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เป็นสำคัญ โดยการสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานรัฐ คือ มณฑลทหารบก ที่ได้ลงโทษผู้บังคับเรือนจำในโทษระดับหนึ่งและมีการลงทัณฑ์ไว้เนื่องจากมีความดีความชอบมาก่อน อันนี้ก็สะท้อนในเรื่องความจริงอยู่บางส่วนที่ว่าขาดการกำกับควบคุมดูแล ถ้อยคำในนั้นก็พูดถึงอยู่แล้วว่าขาดการกำกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ก็ยังอุทธรณ์เรื่องค่าปลงศพ, เรื่องขาดรายได้อุปการะ, เรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งเงินค่าชดเชยนั้นก็คงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่เราก็จะยื่นอุทธรณ์โดยใช้สิทธิที่มีให้เต็มที่ โดยคุณแม่มีความรู้สึกว่าบางส่วนยังน้อยไป
“ที่ศาลพิพากษาให้ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดนี้ เราพอใจในระดับหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงที่ต้องการ คือ ยังอยากให้เป็นบรรทัดฐานของสังคมด้วยว่าควรจะสะท้อนไปถึงผู้บังคับบัญชาที่ควรดูแลเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ และไม่ให้เกิดการอ้างได้ว่าในเหตุการณ์วันนั้นไม่ได้อยู่หรือรับทราบ หากมีข้อเท็จจริงรองรับหรือการพิพากษาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความประมาทหรือละเลยส่วนนี้ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่ว่า ผู้บัญชาการก็ควรจะมีส่วนในการที่จะรับผิดในเรื่องนี้ด้วย เท่าที่ทราบขณะนี้ มทบ.25 ก็ได้จัดการและพยายามที่จะควบคุมไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ก็อยากให้เหตุการณ์นี้เป็นกรณีตัวอย่าง แล้วสามารถนำไปปรับปรุงต่อได้ ตอนนี้ตามคำพิพากษาก็ฟังได้แล้วว่ากองทับบก ต้องร่วมรับผิดในกรณีที่พลอาสาสมัครชูเกียรติในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำในหน้าที่จนมีผู้เสียชีวิต” ทนายระบุ
นายปรีดายังกล่าวถึงการดำเนินคดีอาญาต่อพลทหารที่ร่วมกันทำร้ายด้วยว่า คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 3 จ.นครราชสีมา ตั้งแต่หลังการไต่สวนการตายเสร็จสิ้นที่ศาลจังหวัดสุรินทร์เมื่อปี 2559 พนักงานสอบสวนก็รวบรวมข้อเท็จจริงจากการไต่สวนการตายไปประกอบสำนวนคดีอาญานำเสนอไปสู่ ป.ป.ท.ที่มีอำนาจหน้าที่ ส่วนในชั้นพนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยฟ้องสิบเวรเรือนจำผู้ก่อเหตุกับลูกน้องในเรือนจำ 3 ราย รวม 4 ราย ที่ร่วมกระทำความผิด ขณะที่ก่อนหน้านั้นฝ่ายทหารได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงสรุปว่าผู้ก่อเหตุ 4 ราย มีความผิดจริงทั้งทางอาญาและวินัย ลงโทษทางวินัยไปแล้ว เรือนจำทหารก็ขังไว้ระหว่างการสอบสวนด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ ส.ท.กิตติกร ถูกถอดยศและให้ออกจากราชการมาจากสาเหตุใด นายปรีดาระบุว่า ส.ท.กิตติกร ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือผู้ต้องขังออกจากเรือนจำ เป็นคดีในท้องที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งจบไปแล้ว พอพ้นโทษคดีตรงนั้นก็มาเข้าเรือนจำทหารที่ จ.สุรินทร์ เพราะกระทำผิดในระหว่างเป็นทหารอีกคดีที่ถูกตั้งข้อหาใหม่อยู่ในระหว่างการสอบสวน ซึ่งฝ่ายทหารมีระเบียบของเขาที่จะดำเนินการ
เมื่อถามว่าหาก ป.ป.ท.มีความเห็นสั่งฟ้องในส่วนคดีอาญาจะอยู่ในอำนาจศาลใด ทนายความกล่าวว่า คงจะเป็นศาลทหารเพราะเป็นการกระทำของทหารไม่มีพลเรือน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยคดีนี้ก็ชี้ให้เห็นความบกพร่องเรื่องการควบคุมดูแลในเรือนจำซึ่งเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในวงการทหาร ประชาชนอยากได้ความมั่นใจว่าถ้าลูกหลานไปเป็นทหารแล้วควรจะได้รับการดูแลชีวิต บุคคลที่ทำความผิดสมควรได้รับโทษ แต่ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงฆ่ากัน
ด้านนางบุญเรือง มารดาของ ส.ท.กิตติกร ที่เสียชีวิต กล่าวเปิดใจว่ายังไม่ค่อยพอใจเพราะชีวิตบุตรชายถูกฆ่าทั้งคน คงจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป ส่วนคดีอาญาอยู่ที่ ป.ป.ท.ดำเนินการซึ่งบุตรชายของตนนั้นถูกคุมขังระหว่างสอบสวนอยู่ 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2559 พอวันที่ 21 ก.พ.ก็เสียชีวิต ทั้งที่ยังไม่ได้ดำเนินคดีส่งฟ้องอะไรเลย ในขณะที่ตนเดินทางไปเยี่ยมก็ไม่ได้เยี่ยม เพราะผู้ดูแลเรือนจำบอกว่าเยี่ยมไม่ได้ อยู่ในระหว่างสอบสวน จนกระทั่งบุตรชายเสียชีวิต เหตุการณ์มันรุนแรงมาก
“แม่มาวันนี้ แม่ไม่ได้คิดว่าให้ไต่สวนการตาย แต่ให้ช่วยดูแลให้ดีกว่านี้ ให้ดูแลคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ฆ่าลูกแม่แล้วทำกับใครๆ อีก แม่ให้หยุดตรงนั้น กองทัพบอกว่าให้เยียวยาเราได้แค่นี้ ถ้าเรามีลูกแล้วถูกฆ่าตาย เราไม่เอาเงินกองทัพก็ได้ แต่ต้องเอาลูกมาให้แม่คืน ถ้าแม่ได้รับดูแลแค่นี้ แม่จะไม่เอาเงินกองทัพเลย แต่ให้กองทัพเอาลูกมาให้แม่คืน จะทำใจได้ยังไง 700 กว่าวันแล้ว แม่ไม่ลืมลูกเลย ถ้าลูกเราอยู่เรามีคนดูแล ตอนนี้แม่ไม่มีคนดูแลเลย แม่มีลูกชายแค่คนเดียว” นางบุญเรืองกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ