อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เปิดบ้านแถลง จวกตำรวจไร้หลักฐานตั้งข้อหาก่อการร้าย ร่วมชุมนุมสนามบินกับ พธม. แค่ขึ้นเวทีพูด 5 นาที ถูกยัดข้อหา จี้รัฐบาลเร่งปฏิรูปตำรวจ ยุบ สตช. แยกตำรวจส่วนกลาง กับตำรวจท้องถิ่น จวกคนพูด “ตำรวจเป็นแค่ไซด์ไลน์” ไม่ควรเป็นตำรวจ ต้องเสนอถอดยศ
วันนี้ (19 ก.พ.) พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร เปิดแถลงข่าวที่บ้านพัก ซ.สุขุมวิท 39 (ซ.พร้อมศรี 2) ถ.สุขุมวิท กรณีตกเป็นจำเลยคดีก่อการร้าย เนื่องจากการชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่สนามบินดอนเมือง -
สุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 ว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มีบทบัญญัติสำหรับคุ้มครองผู้ชุมนุม ในมาตรา 69, 70 และ 71 โดยเฉพาะมาตรา 71 ที่ระบุว่า เป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนในการปกป้อง รักษาประเทศ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับ มาตรา 70 ที่ระบุถึงสิทธิในการทักท้วงรัฐบาล หากรัฐบาลบริหารประเทศจนเกิดความเสียหาย แต่ไม่ได้มีการบัญญัติถึงวิธีการขับไล่ ซึ่งเป็นแนวทางของผู้ชุมนุมในการหาวิธีกดดันเพื่อให้รัฐบาลลาออก ไม่อย่างนั้นประเทศชาติจะเสียหายอีกหลายเรื่อง
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ประทิน กล่าวต่อว่า ตนถูกตั้งข้อกล่าวหาถึง 5 ข้อ ได้แก่ 1. มั่วสุมเกินกว่า 10 คนขึ้นไป 2. เข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นและไม่ยอมออกจากสถานที่นั้น 3. บุกรุกเข้าไปในสนามบิน ทำให้สนามบินไม่สามารถใช้การได้ 4. ขัดขวางการจราจร 5. ร่วมกันทำให้การสื่อสารสาธารณะขัดข้อง จนกลายเป็นผู้ก่อการร้าย
พล.ต.อ.ประทิน กล่าวว่า ถ้าตนทำผิดจริงทำไมจึงไม่จับกุมทันที ทั้งที่เป็นความผิดซึ่งหน้าและมีเจ้าหน้าที่เห็นเหตุการณ์ แต่กลับมีการแจ้งความเอาผิดภายหลัง ในข้อกล่าวหาร่วมก่อการร้าย มีจำเลย 98 คน โดยตนเป็นจำเลยที่ 28 ซึ่งผู้ไปแจ้งความเองก็เป็นคนของรัฐบาลที่เสียประโยชน์ ซึ่งการแจ้งความก็ไม่มีหลักฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามยัดข้อกล่าวหา เมื่อพบท่อนไม้ ก็กล่าวหาว่าเป็นของกล่มผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้ตนไม่เชื่อมั่นในการทำสำนวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีเหตุผลเพียงพอในสำนวน
อดีตอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวอีกว่า ในการตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายนั้น ตนไม่มีพฤติการณ์ใดเลย เหตุการณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น ตนไม่ได้เดินทางไปร่วมการชุมนุม เพียงแต่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ได้ขับรถผ่านเพื่อกลับบ้าน จึงได้แวะเยี่ยมผู้ชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยเป็นเวลาไม่ถึง 5 นาที เพื่อขอบคุณกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคยชุมนุมร่วมกันที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยมีหลักฐานเพียงภาพและคลิปเสียง ขณะที่ตนขึ้นเวที ซึ่งในระหว่างการสอบสวน ตนได้ถามพนักงานสอบสวนว่า มีพยานหลักฐานอื่นอีกหรือไม่ ทางพนักงานสอบสวนเองก็แจ้งว่าไม่มี
การตั้งข้อหาจึงไม่สมเหตุสมผล ตนเป็นอดีตอธิบดีกรมตำรวจ จะเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร และยืนยันว่าในช่วงปี 2551 ไม่ได้ร่วมเดินขบวนเนื่องจากเป็นช่วงที่มีปัญหาสุขภาพ หัวใจเต้นผิดปกติ ต้องไปพบแพทย์ตลอด ซึ่งหากแข็งแรงดีคงไปร่วมเดินขบวนด้วยแล้ว
พล.ต.อ.ประทิน กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย สำหรับวินิจฉัยว่าการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยได้ไปยื่นคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา ในนามของกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์
ด้าน นายประยง ไชยศรี ทนายความกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ประทิน ได้ร่วมลงชื่อในนามกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใน 2 ประเด็น คือ 1. การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ขัดต่อมาตรา 69 มาตรา 70 และมาตรา 71 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และหน้าที่ของชนชาวไทยหรือไม่ เนื่องจากเคยมีคนของรัฐบาลขณะนั้นไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ม.68 ฐานล้มล้างรัฐบาล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้อง และวินิจฉัยว่าการเดินขบวนหรือการชุมนุมได้กระทำโดยไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง แต่ทั้งเจ้าหน้าทีรัฐและรัฐบาล กลับไม่ผูกพันตามคำวินิจฉัยดังกล่าว ยังคงดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมต่อเนื่อง การยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา จึงเป็นการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งว่า ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ยอมผูกพันตามคำวินิจฉัยในตอนแรกหรือไม่
ประเด็นที่ 2. ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งหมด นับแต่มีการชุมนุมของพันธมิตรฯ กปปส. และกลุ่มอื่นๆ ได้กระทำไปภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายประยงค์ กล่าวอีกว่า ในการขับไล่รัฐบาลทุนสามานย์ เราถือว่าเรามาทำหน้าที่ของประชาชนในการปกป้องผลประโยชน์ชาติ แต่เหตุใดเราถึงโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการดำเนินคดี ซึ่งกรณีดังกล่าว ประชาชนออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ อันเกิดจากการกระทำของรัฐบาลในขณะนั้น แต่เมื่อรัฐบาลในขณะนั้น พ้นอำนาจไป พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายของแผ่นดิน กลับเป็นโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ต่อสู้เพื่อประเทศชาติ ซึ่งเราต้องคิดว่า พนักงานอัยการนั้นเป็นผู้เสียหายได้อย่างไรและเป็นผู้เสียหายแทนใคร และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้กล่าวโทษ เป็นคนของรัฐบาลที่เสียอำนาจไปแล้วทั้งสิ้น รวมทั้งการดำเนินคดีที่ผ่านมาไม่มีการนำกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด มาประกอบการพิจารณาก่อนยื่นฟ้องแต่อย่างใด
ทั้งนี้ คดีของ พล.ต.อ.ประทิน นั้น พนักงานสอบสวนมีหลักฐานเพียงแค่ภาพการขึ้นเวทีเท่านั้นไม่มีหลักฐานอื่น ซึ่งความคืบหน้าของคดีก่อการร้ายขณะนี้มีเพียงการสืบพยานไปเพียง 1 ปากเท่านั้น
พล.ต.อ.ประทิน ยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ว่า มีความเรียบร้อยสงบสุขดี การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่เป็นการจุดชนวนกระแสสังคมให้ออกมาต่อต้านรัฐบาลได้ แต่เป็นการให้ประชาชนได้พูดมากกว่า เพราะรัฐบาลตอนนี้มั่นคงมาก
มองว่า ปัญหาทุจริต การอุ้มพวกพ้องจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลมากกว่าการชุมนุมประท้วงแน่นอน ส่วนที่มีการเลื่อนเลือกตั้ง ก็สามารถทำได้ถ้าตราบใดที่ทหารยังสนับสนุนอยู่ และการเลือกตั้งก็ต้องคิดดี ๆ ก่อนตัดสินใจเลือก มิเช่นนั้น ถ้าเจอรัฐบาลไม่ดี คนก็จะออกมาชุมนุมประท้วงอีกไปเรื่อยๆ รัฐบาลตอนนี้ก็ควรรู้ว่าอะไรที่ไม่ควรทำก็อย่าทำ
ส่วนเรื่องนาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คิดว่าเป็นเรื่องของบุคคลไม่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล แต่สิ่งที่อาจจะกระทบ คือ การบริหารประเทศชาติที่ขาดธรรมาภิบาล ตนไม่มีอะไรจะฝากถึงรัฐบาล โตๆ กันแล้ว รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรที่ไม่ควรทำก็อย่าทำ แต่อยากฝากในเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนที่อยากให้เร่งแก้ไข และเรื่องการปฏิรูปตำรวจ
พล.ต.อ.ประทิน กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจ ว่า ขอเสนอให้ยุบกรมตำรวจ แล้วให้มีตำรวจส่วนกลางและตำรวจท้องถิ่นแต่ละจังหวัด ถ้าดีก็จะอยู่ได้เข้ากับประชาชนได้ แต่ถ้าไม่ดีเขาก็ขับไล่ อย่างเช่น เรื่องที่ตำรวจไปรับอั่งเปาในช่วงตรุษจีน ก็เป็นภาพที่ไม่ดี ไม่ควรไปรับ ไม่ทราบว่าคนให้หวังประโยชน์อะไร เป็นภาพที่ไม่ดีที่ตำรวจมายืนเข้าแถวเช่นนี้ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าผู้บังคับบัญชาไม่สามารถควบคุมดูแลลูกน้องได้อีกด้วย
ส่วน เรื่องที่มีคนบอกว่า ทำอาชีพตำรวจเป็นไซด์ไลน์ มองว่า ไม่ควรเป็นตำรวจ การที่นำเครื่องแบบมาใส่เพื่อหากินก็เหมือนเป็นการทำลายสถาบันตำรวจ เพราะจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ คนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต้องเข้มแข็ง ต้องตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
“พูดแบบนี้ ถ้าผมเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่จะยื่นเรื่องขอให้ถอดยศไปเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ พูดอะไรต้องคิด พูดให้เสียหายไปถึงรัฐบาลที่เสนอชื่อแต่งตั้ง ถึงจะออกมาขอโทษก็เหมือนแก้ตัว” พล.ต.อ.ประทิน กล่าว