วงเสวนา ตำรวจไซด์ไลน์ : ปัญหาจริยธรรมและกาฝากกระบวนการยุติธรรมไทย แฉกันแหลก ชี้สังคมไทยเห็นพฤติกรรมตำรวจ ‘8 จอม’ เสนอให้มีเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินระดับผู้การฯขึ้นไปให้ ปชช. ตรวจสอบ
วันนี้ (18 ก.พ.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) ได้จัดการเสวนาในหัวข้อ ‘ตำรวจไซด์ไลน์ : ปัญหาจริยธรรมและกาฝากกระบวนการยุติธรรมไทย’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ นายสุนันท์ ศรีจันทรา นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและวงการหุ้น และ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
โดย รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพฤติกรรมและจริยธรรมตำรวจทั้งในและต่างประเทศ สรุปว่า บุคลิกตำรวจค่อนข้างเป็นแบบเผด็จการ วางอำนาจ ยิ่งอยู่ในอำนาจนาน ยิ่งนิยมอำนาจเผด็จการมากขึ้น มองโลกในแง่ร้าย การตั้งข้อสงสัยผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่าจะผิดไว้ก่อน ไม่ค่อยไว้วางใจใคร ในสังคมไทยมักเห็นพฤติกรรมตำรวจแบ่งเป็น 8 จอม ได้แก่ 1. จอมโหด คือ ปฏิบัติตัวเป็นศาลเตี้ย 2. จอมเป่า คือ การเป่าคดี ตั้งแต่ไม่รับคำร้องทุกข์จากชาวบ้าน เป่าคดีจากผู้มีอำนาจให้เบาบางลง 3. จอมเอื้อ คือ การใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์คนอื่น 4. จอมรีดไถ เช่น พฤติกรรมรีดไถเงินจากชาวบ้าน ทั้งเรื่องกฎหมายจราจร บ่อน หวย ซ่อง 5. จอมวิ่ง มักจะพบเจอตอนฤดูกาลโยกย้ายตำรวจ 6. จอมยัด ที่ยัดทั้งของผิดกฎหมายหรือข้อกล่าวหาให้ประชาชน 7. จอมไซด์ไลน์ มองงานตำรวจไว้เพียงประดับอำนาจ บารมี และ 8. จอมเอาหน้า แย่งผลงานเพื่อนทั้งที่งานไม่ค่อยทำ ที่ตนยกตัวอย่างมาถือเป็น 8 พฤติกรรมที่เราเห็นทั้งละเมิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม นอกจากนี้ ขอเสนอว่าต่อไป บัญชีทรัพย์สินตั้งแต่ระดับผู้การควรประกาศต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบจากภาคประชาชน
“เมื่อดูปัจจัยที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องบุคคล ตำรวจมักอ้างเงินเดือนน้อย ทุกคนก่อนรับราชการก็รู้อยู่แก่ใจในเรื่องเงินเดือน นอกจากนี้เรายังเห็นพฤติกรรมต่างที่สะท้อนมาถึงการทำงานอีกหลายปัจจัย เช่น การทำงานตามคำสั่งเจ้านาย ก่อให้เกิดการรับเงินจากผู้มีอำนาจ นักธุรกิจ คนในวงการตำรวจมักมีกฎในการปกป้องพวกเดียวกัน นโยบายการเมืองบางช่วงเวลา เอื้อให้ตำรวจทำหน้าที่มิชอบ สมัยหนึ่งเรื่องนโยบายฆ่าตัดตอนเพื่อปราบปรามยาเสพติด มีแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง สังคม ให้เร่งรัดคดี รีบจับผู้กระทำความผิดเลยมีความเป็นไปได้ในการจับแพะ ค่านิยมวัฒนธรรมที่ผิดพลาด พฤติกรรมที่ไม่ชอบมีวัฒนธรรมของตำรวจ เลือกลงโรงพักที่มีผลประโยชน์ ขอติดตามนายเพราะได้เลื่อนตำแหน่งเร็ว รวมทั้งการประกอบอาชีพอื่นร่วมกับอาชีพตำรวจ มีค่านิยมเสพสุข ฟุ้งเฟ้อ วัฒนธรรมกฎรักษาความลับ เพื่อเป็นกลไกลช่วยรวมตัวกลุ่มตำรวจ ปกปิดพฤติกรรมให้รอดพ้นการสังเกตจากโลกภายนอก ถ้าใครฝ่าฝืนต้องเผชิญถูกขับจากกลุ่ม ลาออก เสียเพื่อน สูญเสียอาชีพการงาน วัฒนธรรมการใช้กำลัง สุดท้ายมีพฤติกรรมคล้อยตามอำนาจ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนทำให้เกิดพฤติกรรมไม่ชอบทั้งหลาย ละเมิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
ต่อมา พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุว่า พฤติกรรมค่านิยมในแวดวงตำรวจที่ฝังรากลึกมานานนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการจัดโครงสร้าง ใช้หลักคิด วินัยแบบทหาร คิดว่า น่าจะนำมาใช้กับตำรวจได้ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ตำรวจอ่อนแอ การจับกุมหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความรุนแรง ละเมิดสิทธิและมิชอบ ต่างเป็นปัญหาในวงการตำรวจ ปัญหาทั้งหลายเป็นมาจากโครงสร้าง อีกทั้งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่จะระบุสิ่งต่างๆ เข้ามา แต่ก็ยังไม่เห็นทางออก การปฏิรูปที่สำคัญ คือ การแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีที่เป็นประเด็น ตำรวจไซด์ไลน์ ถ้าทำงานเต็มเวลา คงไม่มีเวลาไปทำอาชีพเสริม บางประเทศแม้แต่ให้ภรรยาไปเปิดร้านขายสุรายังไม่ได้ แต่ในเมืองไทยไม่ใช่ ไปเกี่ยวพันทั้งเรื่องบ่อน หวย ซ่อง ผับบาร์ รถโดยสาร รถรับจ้าง ในองค์กรตำรวจแม้มีกฎระเบียบเรื่องจริยธรรม แต่กลับไม่เคยมีตำรวจโดนลงโทษเลย ตีความได้ 2 แบบ คือ ตำรวจมีจริยธรรมที่ดี หรือระบบการตรวจสอบไม่ได้เรื่อง อีกทั้ง ผู้บังคับการบางคนกลับมีคำขวัญแปลกๆเช่น ใจถึงพึ่งได้ มีให้ได้แจก เป็นต้น
ส่วน นายสุนันท์ ระบุว่า เรื่องกรณีตำรวจไซด์ไลน์ที่เกิดขึ้นเป็นการรวมตัวกันของ 3 เจ้าพ่อ ประกอบด้วย เจ้าพ่ออ่าง เจ้าพ่อตำรวจ เจ้าพ่อนักปั่นหุ้น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นมีมูลค่ารวมกันกว่า 18.13 ล้านล้านบาท มากกว่าจีดีพี การซื้อขายปีนี้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้าน ไม่มีธุรกิจใดมีการซื้อขายเท่ากับตลาดหุ้นที่มีการซื้อขายเพียงแค่วันเดียว ยังไม่นับรวมเงินปันผล 2.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น คนที่คิดไปหาประโยชน์เพียงแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามหาศาลมาก ภาพประชาชนคิดว่าตลาดหุ้นคือบ่อนการพนัน แต่ไม่เคยมีใครติดคุก เงินที่เข้ามาในตลาดมีทั้งทหาร ตำรวจ อัยการ นักกฎหมายระดับชาติ มักไปอยู่ในบริษัทที่มีลักษณะหุ้นสีเทา หุ้นปั่น เพราะต้องการนำไปปกป้องบริษัท เพื่อไม่ให้มีใครกล้ายุ่ง เรื่องเกี่ยวพันไปถึง พล.ต.อ.สมยศ ที่ไม่ใช่เพียงเงินยืม เมื่อไปตรวจสอบไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. จะมาอ้างไม่ได้ว่า เงินที่ได้รับยืมมาไม่รู้มาจากไหน เท่าที่ทราบ พล.ต.อ.สมยศ มักไปเกี่ยวข้องกับหุ้นที่เป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยมากมาย อาทิ หุ้นปิคนิคเดิม ที่วันนี้หลังจากมีการฟื้นฟู ได้กลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ภายใต้ชื่อ WP หุ้น AQ หรือ บริษัทกฤษดามหานครเดิม เมื่อเจ้าของเดิมดูแลไม่ไหว เลยผ่องถ่ายมาให้ สมยศ ในปี 2557 จึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 19 เปอร์เซ็นต์ พอปี 2558 พล.ต.อ.สมยศ ขายทั้งหมดออกให้นายกำพล เงินของนายกำพล ส่วนหนึ่งมาลงใน aqua ที่ปัจจุบันมีการฟ้องร้องทางกฎหมาย นอกจากนี้บางบุคคลที่ถูกยกเป็นเจ้าพ่อปั่นหุ้น เคยถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษ 14 คดี ปรากฏว่า ดีเอสไอ ยุค นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ก่อนยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ตัดตอนหมดทั้ง 14 คดี สั่งไม่ฟ้อง คดีไม่ได้นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ประชาชนเลยไม่รับรู้ รับทราบ มีเพียงคดีเดียวที่ยังไม่หลุดในชั้นดีเอสไอ คือ news หรือ สปริงนิวส์ ได้ข่าวว่า อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่รอดูดีเอสไอจะมีความเห็นว่าอย่างไร นอกจากนี้ เมื่อไปดูข้อมูลย้อนหลังใน ก.ล.ต. จะไม่เจอคดีที่ไม่ถูกสั่งฟ้อง เนื่องจากถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
วิธีการในตลาดหุ้นเปลี่ยนไป จากปั่น เป็น ไซฟ่อนเงิน โดยเพิ่มทุน และไปซื้อทรัพย์สินภายนอกแพงกว่าราคาจริง แล้วเอาเงินทอน บางบริษัท แปลกใจมีการเพิ่มทุนกว่า 11 ครั้ง กรณีการซื้อขาย ยืมเงินบางเรื่อง เราไม่รู้เป็นเงินบาปแล้วมาทำผิดในตลาดหรือไม่ คนที่จะตอบเรื่องนี้ได้คือ ดีเอสไอกับ ปปง. เพราะเราได้ลายแทงแล้ว ขอให้ตามรอยไปให้สุด และอาจจะไม่ได้แค่นี้ อาจได้เจ้าพ่อใหญ่ในวงการอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย ในตลาดหลักทรัพย์เต็มไปด้วย 18 มงกุฎ เราเคยได้ยินข่าว คนฆ่าตัวตาย ฆ่ายกครัว เพราะไปเล่นหุ้นแล้วขาดทุนเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการฆ่ากันอย่างเลือดเย็น เต็มไปด้วยอาชญากรรม ไม่มีใครกลัว ก.ล.ต. เพราะปั่นได้ 500 - 1000 ล้าน ไม่ยอมเสียชื่อถูก ก.ล.ต. ปรับ โดยไปรอที่ปลายทางเซ็นครั้งเดียวหลุดไปเลย จึงไม่เคยเห็นบริษัทใด ถูก ก.ล.ต. ถูกลงโทษ ขณะเดียวกัน สื่อสายตลาดหลักทรัพย์ ไม่ค่อยมีใครเสนอข่าวร้ายในตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นจดทะเบียนใหม่ เพราะนักข่าวสายตลาดหลักทรัพย์ ได้รับหุ้นจองหรือไอพีโอเกือบทั้งหมด
“อดีต ผบ.ตร. มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน แต่เอาเวลาไปเล่นหุ้น เล่นแล้วมันติด นอนยังฝัน ไม่แปลกใจยุคนั้นไม่มีการถอดยศนายทักษิณเสียที เพราะเอาเวลาไปเล่นหุ้นหรือไม่ ขอฝากกลต. อยากได้คนกล้า เป็นปากเสียงนักลงทุนจริงๆ คนเล่นมักโทษตัวเองว่าซวย ไม่เคยคิดว่าถูกโกง เคยเสนอไปยัง ก.ล.ต. ให้มีเอ็นจีโอไปทำหน้าที่ 1 ตำแหน่งในคณะกรรมการ ไม่ใช่มีแต่ตัวแทนโบรกเกอร์ กระทรวงการคลัง แต่สมาคมผู้ส่งเสริมการลงทุนเหมือนเสือกระดาษ ไม่ทำหน้าที่เลย 3 เจ้าพ่อมาเจอกัน เราบอกไม่ได้เขามีพฤติการณ์อย่างไร คนบอกได้ คือ ปปง. กับดีเอสไอ จึงขอให้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ” นายสุนันท์ กล่าว
สุดท้าย นายวัชระ ระบุว่า เหตุที่ไปร้องเรียนให้มีการตรวจสอบอดีต ผบ.ตร. เพราะเห็นว่า ตำรวจต้องมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน แต่อดีตผู้บริหารสูงสุดขององค์กร กลับไปยืมเงินผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยจากการค้ามนุษย์ เลยมีข้อสงสัยว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินส่วยใช่หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาของสังคม มักไม่ค่อยมีใครอยากยุ่งกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจ หากตนกลัว ก็ไม่สมควรเป็นอดีต ส.ส. แต่อย่างใด ปัญหาหลายอย่างในประเทศต้องการแก้ไข ต้องการคำตอบในสังคม อย่างไรก็ดีหากสมัยหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล จะแยกอำนาจการสอบสวนออกจากสตช. ทันที ตำรวจถูกแบ่งเป็น2ชนชั้น กลุ่มคนที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กับ ตำรวจที่จบจากมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มักถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีทางเติบโตใน สตช. ดังนั้น จึงต้องมีการปฏิรูปสตช. หลายครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งในช่วงการเลือกตั้งเอาเปรียบอีกพรรค ให้เกิดการได้เปรียบกับอีกพรรค ไม่อยากเห็นตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับผู้มีอำนาจ ปัญหาจริยธรรมของตำรวจที่ไม่เคยมีตำรวจถูกลงโทษเลย ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก
ปัญหาตำรวจต้องปฏิรูปองค์กรนี้อย่างเร่งด่วน หากไม่ปฏิรูป ปัญหาประชาชนจะมีมากขึ้นจากการดำเนินการของตำรวจที่ไม่มีคุณธรรม เช่นเดียวกับดีเอสไอ ควรมีการปฏิรูป มีหลายคดีที่ประชาชนเคลือบแคลง ทำไมถึงไม่มีการสั่งฟ้อง ยังไม่นับรวมกรณีผู้ต้องขังคนสำคัญ ผูกคอตายในห้องขัง รวมไปถึง ป.ป.ช. อัยการ ต่างที่ต้องมีการปฏิรูปเช่นเดียวกัน ไม่ทราบว่า ท่านทำรัฐประหาร ไซด์ไลน์หรือไม่ ไม่ได้เอาจริงปฏิรูปราชการ ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปตำรวจ ถึงขนาดนายอภิสิทธิ์ ระบุ ไม่สามารถอภัยได้ ในการออกบัตรคนจน แต่เอาเงินไปซื้อได้เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ สุดท้ายเงินก็ยังอยู่ในมือเจ้าสัว นอกจากนี้ในส่วนกระแสข่าวหาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หากไปตั้งพรรคการเมืองใหม่จริง แล้วจะส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงพื้นที่ใด ตนพร้อมไปลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์แข่งขันด้วย ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี