อย. ร่วมกองปราบจับแหล่งผลิต “ยาปลอม” ยึดของกลางกว่า 5 ล้านบาท จ่อพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตบริษัทยา พร้อมเอาผิดสถานที่ผลิตอีก 3 ข้อหา พร้อมเร่งสืบหาที่มาวัตถุดิบทรามาดอลแคปซูลเขียวเหลือง
วันนี้ (17 ม.ค.) ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว “การจับยาปลอมครั้งใหญ่ยึดของกลางมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท” ว่า อย. ได้ทำการสืบสวนกรณีการลักลอบขายยาทรามาดอลแคปซูลเขียว - เหลืองให้กับเยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะยาที่ฉลากระบุชื่อว่า “PACMADOL” ซึ่งทะเบียนตำรับยาได้ยกเลิกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2555 ต่อมาพบว่า มีการลักลอบผลิตยาดังกล่าวในเขตพื้นที่ จ.ปทุมธานี และมีการขายยาผ่านโซเชียลมีเดีย จึงได้ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี เข้าตรวจสอบ บริษัท เบสซี่แอรอน จำกัด ตั้งอยู่ที่ 11/79 หมู่ที่ 20 อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ผลการตรวจสอบพบว่า กำลังผลิตยาแคปซูลสีเขียว - เหลือง บรรจุในถุงพลาสติกถุงละ 1,000 แคปซูล ได้อายัดของกลางไว้ และ อย. จะเชิญเจ้าของบริษัทมาแจ้งข้อกล่าวหา
ภก.สมชาย กล่าวว่า เบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ครอบครองสถานที่ว่ากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ใน 3 ข้อหา ได้แก่ 1. ผลิตยาปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 - 50,000 บาท 2. ผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3. ผลิตยานอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับ 2,000 - 5,000 บาท ส่วนบริษัทที่เข้าตรวจสอบนี้พบว่าขึ้นทะเบียนกับ อย. ถูกต้อง แต่มีการลักลอบผลิตยาที่ไม่ได้รับอนุญาต อย. จะดำเนินการโทษทางอาญากับในส่วนการกระทำผิดกฎหมายนี้ ส่วนการผลิตยาอื่นที่ไม่ผิดกฎหมายของบริษัทนี้จะกระทบหรือไม่ อย. จะพิจารณาโทษทางปกครองอีกครั้ง ว่าสมควรจะลงโทษโดยการพักใช้ใบอนุญาตผลิตกับบริษัทนี้หรือไม่ ซึ่งหากมีการพักใช้จะทำให้บริษัทนี้ไม่สามารถผลิตยาใดๆ ได้ในทันที โดยจะพักใช้ครั้งละ 120 วัน จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
“ยาทรามาดอลจัดเป็นยาอันตราย ที่อนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำเท่านั้น การส่งมอบยาให้กับผู้ซื้อจะต้องกระทำโดยเภสัชกร จำหน่ายให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เท่านั้น ไม่เกิน 20 แคปซูล/เม็ด ต่อรายต่อครั้ง ห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี และต้องทำบัญชีการรับ - จ่ายยาอย่างเข้มงวดให้กับ อย. หากร้านขายยาใดไม่ปฏิบัติตาม อย. จะเข้าตรวจสอบและอายัดทันที หากผู้บริโภคเจอร้านขายยาที่กระทำความผิดนี้ สามารถแจ้งเบาะแสให้ อย. ได้ที่สายด่วน 1556” ภก.สมชาย กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการประสานจาก อย. จึงได้จัดตำรวจมากกว่า 10 นายเข้าร่วมตรวจสอบ โดยมีเจ้าหน้าที่ อย. นำเข้าไปยังบริษัทผลิตยาที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่มีการลักลอบผลิตยาปลอม โดยได้อายัดของกลาง จำนวน 6 รายการ ได้แก่ 1. ยาแคปซูลสีเขียว - เหลือง จำนวน 288,400 แคปซูล 2. ยาแคปซูลสีชมพู - ขาว จำนวน 5,000 แคปซูล 3. ผงยาสีขาว จำนวน 3 กิโลกรัม ผงยาสีเหลือง จำนวน 118 กิโลกรัม เชื่อว่า เป็นสารที่ใช้ในการผลิต ซึ่ง อย. จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้งว่าเป็นสารชนิดใด 4. ฉลากยา “PACMADOL” จำนวน 600 ใบ 5.อุปกรณ์และเครื่องจักรในการผลิตจำนวนหนึ่ง และ 6.แคปซูลเปล่าสีเขียว-เหลือง จำนวนกว่า 1 ล้านแคปซูล รวมมูลค่าของกลางกว่า 5 ล้านบาท
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษา อย. กล่าวว่า เมื่อ อย. มีการเข้มงวดในการซื้อ - ขายยาทรามาดอล ผ่านทางร้านขายยา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้หาซื้อยาชนิดนี้ยากมากขึ้น จึงมีการลักลอบขายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งผิดกฎหมาย เพราะห้ามไม่ให้มีการขายยาทางออนไลน์ จากนี้ต้องสืบสวนสอบสวนต่อไปถึงว่าบริษัทที่จับกุมในครั้งนี้ มีการซื้อวัตถุดิบในการผลิตมาจากที่ไหน เพราะปกติแล้วการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตยาชนิดนี้ ผู้นำเข้าต้องแสดงบัญชีนำเข้าและขายให้กับ อย. ปัจจุบันมีราว 10 กว่าบริษัทที่นำเข้า หากพบว่าที่ใดขายให้บริษัทนี้แต่ไม่ปรากฏในบัญชีที่รายงาน อย. ถือว่ามีความผิด จะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่หากไม่พบบริษัทใดเกี่ยวข้อง ก็จะต้องสงสัยว่าเป็นการลักลอบนำเข้า ก็จะประสานไปยังศุลกากรต่อไป เพื่อหาว่ามีการลักลอบนำเข้าทางไหน อย่างไร
“ทรามาดอลเป็นยาระงับปวด ที่ใช้ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการสั่งของแพทย์ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผ่าตัด เป็นต้น หากใช้เป็นเวลานานหรือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ติดยาตัวนี้ได้ เพราะจะกดประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะระบบหายใจ ทำให้หยุดหายใจและเสียชีวิตได้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ อาจจะหัวใจล้มเหลว ที่ผ่านมา อย่างกรณีเด็กชายคนหนึ่งที่ใช้ยาตัวนี้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์เป็นเวลา จนกล้ามเนื้อขาลีบ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะยาไปสลายกล้ามเนื้อลาย ดังนั้น ผู้ที่ไม่มีความจำเป็นไม่ต้องใช้” ภก.ประพนธ์ กล่าว