สาวโพสต์เฟซบุ๊กเตือนภัย “ยาเขียว - เหลือง" ทำแฟนหนุ่มนอนระทม ลุกไม่ไหว สมองเบลอ ความจำเสื่อม วอนวัยรุ่นเลิกกินก่อนสาย อย. ชี้ เป็น “ยาทรามาดอล” ยาอันตรายต้องควบคุม เหตุนำไปใช้ทำของมึนเมา
ขณะนี้ในสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องราวของหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กเตือนภัยอันตรายของ “ยาทรามาดอล” หรือที่วัยรุ่นนิยมเรียกติดปากว่า “เขียว - เหลือง” ตามลักษณะสีแคปซูลของยา โดยระบุว่า
“คนที่ชอบกินเขียว - เหลือง จนติดนั้น ตอนนี้แฟนมีอาการหนักมาก เริ่มเอาแต่นอนไม่ยอมลุกจากที่นอน เพราะลุกไม่ไหว พอลุกเข้าห้องน้ำจะเซล้มตลอด ไม่สามารถเดินได้ รักษาก็ยังไม่หาย จำอะไรไม่ค่อยได้ สมองเบลอหลงลืม ตาค้างเหม่อลอยตลอดเวลา นอนไม่หลับ ต้องให้กินยานอนหลับทุกวัน กินข้าวไม่ค่อยได้ น้ำหนักลง 7 - 8 กิโลกรัม คนที่กินอยู่ขอให้เลิก เพราะจะมีผลข้างเคียงตามมา ซึ่งแรกๆ ยังไม่เกิดอาการ แต่ถ้ากินเข้าไปมากๆ จะสะสมในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่มีแรง เจ็บกระดูก ทำลายสมอง ความจำเสื่อม ถ้าไม่อยากเป็นแบบแฟนเราเลิกกินก่อนมันจะสาย”
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ยาทรามาดอล เป็นยาแก้ปวดใช้บรรเทาอาการปวดชนิดรุนแรง หรือ ปวดเรื้อรัง เช่น กรณีแผลผ่าตัด หรือ ปวดข้ออย่างรุนแรง เฉียบพลัน โดย อย. จัดยาทรามาดอลเป็นยาอันตราย ต้องได้รับการควบคุมตามกฎหมาย ทั้งผู้ผลิตและร้านขายยา จะต้องมีการทำระบบรายงานการผลิต และการซื้อขายว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้สามารถติดตามได้ โดยเฉพาะร้านขายยาจะมีการกำหนดให้สามารถซื้อยาดังกล่าวได้ครั้งละ 1,000 เม็ดต่อเดือน และจ่ายยาให้ผู้ซื้อครั้งละไม่เกิน 30 เม็ดต่อครั้ง
“การจ่ายยาจะจ่ายตามอาการบ่งชี้ โดยยาตัวนี้กินได้ไม่เกิน 5 - 7 วัน หากใช้แล้วยังไม่ดีขึ้น ต้องพบแพทย์ ที่สำคัญ ห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี และขายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น หากพบการขายในอินเทอร์เน็ต ตลาดนัด หาบเร่แผงลอย ถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ยาทุกตัวนั้นมีประโยชน์ แต่ต้องใช้ให้อย่างเหมาะสม มิเช่นนั้น จะมีผลข้างเคียงได้ หากบริโภคยาตัวนี้เกินขนาดจะมีอาการตั้งแต่ คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ เวลาใช้ยาต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ ดูฉลากยาให้ดี ทั้งนี้ อย. ได้เข้มงวดทางเภสัชกรให้จ่ายยาตามที่มีอาการบ่งชี้ และมีการเสนอให้มีการพักใบอนุญาตในการขายยา หากพบว่ากระทำความผิด ซึ่งปกติจะมีการพักใช้ครั้งละ 120 วัน และหากเป็นเภสัชกรด้วย จะส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรม พิจารณาเรื่องจริยธรรมต่อไป
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่อาจจะบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน โดยคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เยาวชนไปยุ่งเกี่ยวกับของมึนเมา สื่อเองก็ต้องช่วยกัน จะรณรงค์ไม่ให้เยาวชนไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ปกครองก็ต้องจับตาดูบุตรหลานเช่นกัน ส่วนมาตรการการปราบปรามก็กำลังทำอยู่ แต่ต้องใช้มาตรการอื่นร่วมกันด้วย หากพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งเรื่องมาได้ที่ สายด่วน 1556 หรือผ่านแอปพลิเคชัน อย. แล้วสามารถส่งเรื่องเข้ามาได้เลย หากมีหลักฐานพร้อมก็สามารถจับกุมได้เลย