สธ. เผย ทีมแพทย์ดูแล ปชช. ช่วงพระราชพิธีในทุกจังหวัดพร้อม 100% ให้ทุกจังหวัดเสนอแผนเตรียมความพร้อม 15 ต.ค. พร้อมดูแลสภาพจิตใจ ภาวะโศกเศร้าร่วม
วันนี้ (12 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ว่า สธ. ได้มอบหมายให้ สสจ. ทั่วประเทศ ดำเนินการจัดตั้งทีมแพทย์และพยาบาลในบริเวณพระเมรุมาศจำลองของแต่ละจังหวัด รวมถึงจุดถวายดอกไม้จันทน์ในระดับอำเภอกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การดูแลประชาชน ทั้งในส่วนของสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งขณะนี้มีความพร้อม 100%
“สำหรับการแต่งกายของบุคลากรทางการแพทย์และจิตอาสาจัดตั้งด้านการแพทย์ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ให้สวมเสื้อสุภาพสีขาว ปลอกแขนพื้นขาวเครื่องหมายกาชาดสีเขียว ส่วนการซักซ้อมจิตอาสาเฉพาะกิจด้านการแพทย์ เหลือเพียงการซักซ้อมแผนปฏิบัติใหญ่ในวันที่ 19 และ 21 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ นพ.สสจ. ทุกจังหวัด จะต้องเสนอแผนการเตรียมความพร้อมในพื้นที่มายังส่วนกลางภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการดูแลในส่วนของสุขภาพจิตประชาชน ซึ่งปัจจุบันประชาชนมีความโศกเศร้าและอาลัย จะให้จิตอาสาด้านการแพทย์ และ อสม. สอดส่องดูแล หากพบบุคคลที่มีความเสี่ยงและมีภาวะซึมเศร้าจะให้การดูแลเป็นพิเศษรายบุคคล อยากให้ประชาชนใช้แนวทางในการเปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นพลัง ซึ่งการเข้าร่วมในกิจกรรมจิตอาสาจะเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความโศกเศร้า
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกต์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงเวลาครบรอบ 1 ปีแห่งการสวรรคต และในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ประชาชนทั้งประเทศจะมีความโศกเศร้าในเรื่องเดียวกัน เป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญอันเป็นที่รักยิ่ง และประชาชนมีความผูกพันอย่างมาก โดยเฉพาะบุคคลที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุ เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความผูกพันกับพระองค์ท่านมาก นับเป็นวันสูญเสีย ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 วันที่พระองค์สวรรคต แต่ประชาชนยังสามารถเข้าถวายบังคับพระบรมศพได้ แต่ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่พระองค์จะสถิตอยู่ในดวงใจตราบนิจนิรันดร์
“สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านจิตใจ เช่น ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่มีโรคจิตเป็นโรคประจำตัว อาจมีอาการเป็นมากขึ้น เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นเร้าที่เป็นเสียงเพลงเศร้าๆ หรือการกรีดร้องของผู้คน รวมทั้งอาจจะกระตุ้นมวลชนให้มีความรู้สึกโศกเศร้าร่วม ดังนั้น หากพบเจอประชาชนที่มีภาวะดังกล่าวให้แยกตัวบุคคลที่เป็นผู้เหนี่ยวนำออกจากกลุ่ม ให้อยู่ในพื้นที่โล่ง ให้สามารถหายใจได้เต็มที่ ก็จะทุเลาอาการได้ แต่หากไม่ดีขึ้นก็จะต้องส่งต่อให้ทีมแพทย์” นพ.พงศ์เกษม กล่าว
นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า ภาวะโศกเศร้าร่วมไม่อันตรายแต่จะเป็นการสร้างความรู้สึกร่วม เมื่อมีผู้คนไปมุงดู หากเป็นผู้ที่มีความหวั่นไหวทางอารมณ์ก็จะทยอยมีอารมณ์ร่วมไปเรื่อยๆ ขยายวงกว้าง ซึ่งตามปกติจะมีบุคคลหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ร่วม ก็ต้องพยายามดึงตัวบุคคลนั้นออกจากกลุ่มคน
นพ.สมควร หาญพัฒนาชัยกูร ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนที่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและถวายดอกไม้จันทน์ จะต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตนเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ และพกยาประจำตัวมาด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของเด็ก ผู้สูงอายและผู้ที่มีโรคประจำตัวคใรมีการพกรายละเอียดชื่อ ที่อยู่และโรคประจำตัวไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง เผื่อกรณีเกิดการพลัดหลงหรือมีอาการเจ็บป่วยจะได้ช่วยเหลือให้การรักษาได้ทันท่วงที