xs
xsm
sm
md
lg

ได้ยาผิดชีวิตเปลี่ยน!! เปิดเหตุผลควรโหลดแอปฯ “RDU รู้เรื่องยา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วกับแอปพลิเคชัน “RDU รู้เรื่องยา” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นับเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่น่าจับตามอง เพราะหากมีการเปิดให้ใช้งานจริง และมีการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง เชื่อได้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ปัญหาการใช้ “ยา” ที่ไม่สมเหตุผลของคนไทย รวมไปถึงระบบสาธารณสุขของไทยได้

แล้วแอปพลิเคชันตัวนี้จะมาช่วยยกระดับการใช้ “ยา” ของคนไทยให้สมเหตุผลขึ้นได้อย่างไร ก่อนอื่นต้องมาดูคุณสมบัติของแอปพลิเคชันนี้กันเสียก่อน

แอปพลิเคชัน “RDU รู้เรื่องยา” สามารถสแกน QR Code บนซองยาของดรงพยาบาล เพื่อบันทึกชื่อโรงพยาบาล ชื่อยาที่ได้รับยา วิธีการใช้ยา ข้อมูลฉลากเสริมพร้อมข้อมูลความปลอดภัยด้านยา ของยาที่เราได้รับ และจัดเก็บอยู่ภายในสมาร์ทโฟน ดังนั้น ข้อมูลทั้งหมดจึงกลายเป็นประวัติการรักษาของเรา ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัย เพราะต้องมีการเข้ารหัสก่อนที่จะสามารถเปิดประวัติการรับยาทั้งหมดของเราได้

ดังนั้น เมื่อเรามีประวัติการรักษาและการใช้ยาอยู่ในมือ ปัญหาเหล่านี้ย่อมหมดไป คือ

1. ลืมข้อมูลเกี่ยวกับยารับประทาน เช่น ลืมว่าเคยใช้ยาอะไรมาก่อน ต้องรับประทานกี่เม็ด ใช้ยามานานเท่าไร เคยตรวจจากที่ไหนมาก่อน

2. ช่วยมีประวัติข้อมูลการแพ้ยา ช่วยป้องกันการลืมว่าเราเคยแพ้ยาอะไรหรือไม่

ข้อมูลทั้งสองส่วนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาของแพทย์ เพราะหากไม่มีข้อมูลเหล่านี้ หรือคนไข้ตอบได้ไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดการสั่งยาหรือจ่ายยาที่ไม่เหมาะสมกับคนไข้ได้ หรืออาจเกิดเหตุการณ์ได้ยาซ้ำซ้อน ยาตีกัน หรือได้ยาต้องห้าม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือว่าอันตรายและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มักพบปัญหาการได้รับยาไม่เหมาะสม หรือผู้ป่วยแพ้ยาจนเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อเรามีประวัติการรักษาและการใช้ยาอยู่ในมือไม่ว่าจะเข้าสถานพยาบาลใด ก็สามารถนำประวัติการรักษา หรือประวัติการใช้ยาให้แพทย์ได้รับทราบ เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยและการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากขึ้น และลดอันตรายจากการไม่ใช้ยาลงได้ การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเริ่มใหม่ทุกครั้งที่รักษา ซึ่งทันทีที่แอปพลิเคชันเปิดใช้อย่างเป็นทางการจะมีโรงพยาบาลนำร่องที่ให้บริการซองยาที่ระบุ QR Code จำนวน 15 แห่ง ประกอบด้วย

รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ. ราชวิถี รพ.วชิรพยาบาล รพ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ รพ.สังกัด สธ. 10 แห่ง คือ รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จ.สุพรรณบุรี รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี รพ.พระพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา รพ.สระแก้ว รพ.ระนอง รพ.กระบี่ รพ.บุรีรัมย์ รพ.อุดรธานี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ครอบคลุมยาจำนวน 700 รายการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้ได้อย่างเป็นทางการในช่วง พ.ย. นี้

ทั้งนี้ ในอนาคตจะครอบคลุมยาทุกรายการที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และขยายไปสู่โรงพยาบาลอื่นๆ อีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังมีข้อมูลอื่นๆ อีก เช่น ข้อมูลยา ข่าวสารเรื่องยา สาระยาน่ารู้ รวมถึงใช้ในการค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อมูลยาที่ถูกต้อง ลดปัญหาการได้ยาไม่ถูกต้องจากการค้นหาข้อมูลยาจากอินเทอร์เน็ตและซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งถ้าตัดสินใจไม่ไดี อาจทำให้ได้ยาไม่ตรงกับโรค ทำให้จากอาการเบาก็กลายเป็นหนักและเกิดอันตรายได้

สำหรับในเฟสสองของแอปพลิเคชัน จะมีการพัฒนาให้สามารถแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลารับประทานยา และจะมีระบบเตือนเมื่อได้รับยาที่เคยแพ้ หรือได้รับยาใหม่ที่อาจมีปัญหาตีกันกับยาเดิม สามารถแจ้งบุคลากรผู้สั่งและจ่ายยาได้ในทันที เป็นการป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรง จนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

และเฟสสาม จะเชื่อมต่อข้อมูลยาของประชาชนกับสถานพยาบาล เมื่อผู้ป่วยเข้ารักษาตัว ทำให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่องถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการได้ยาซ้ำซ้อน เกินขนาด หรือขัดขวางการรักษา เพิ่มความปลอดภัยด้านยาให้แก่ผู้ป่วยมากขึ้น

จากข้อดีของแอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา ในอนาคตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหรือสิทธิการรักษา อาจนำมาใช้ต่อยอดได้ เช่น เป็นมาตรฐานหนึ่งในการวินิจฉัยและรักษาของแพทย์ ที่จะต้องให้ผู้ป่วยแสดงข้อมูลประวัติการใช้ยา เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิทธิการรักษา เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสำนักงานประกันสังคม อาจนำมาใช้เป็นกลไกในการช่วยลดปัญหาการ “ชอปปิ้งยา” ของผู้ป่วยได้ เพื่อลดปัญหาการรับยาซ้ำซ้อน และลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่จำเป็นลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น