xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมาตรการป้องกัน ขรก.ใช้สิทธิ “ทุจริตยา” หลัง ครม.ไฟเขียวเพิ่มยาแรง “กำหนดหลักเกณฑ์จัดซื้อยา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ฉบับบูรรษการ “สาธารณสุข-สปสช.-คลัง-ป.ป.ช.” หลัง ครม.ไฟเขียวใช้แก้ปัญหาระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล หวังขจัด ขบวนการใช้สิทธิ ขรก.ทุจริตยา เน้นปลุกจิตสำนึกบุคลากร เพิ่มยาแรง “กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา”

วันนี้ (15 ก.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตามที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับกับกระทรวงสาธารณสุขเสนอ ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักพิจารณาเรื่องนี้ ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสม ทั้งนี้ มาตรการฯ ประกอบด้วย

ข้อเสนอแนะเชิงระบบ ดังนี้

1. ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU) ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ให้สถานพยาบาลของรัฐทุกสังกัด รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงสำหรับสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ นำหลักเกณฑ์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU) ที่เป็นมาตรฐานกลางซึ่งเกิดจากการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไปใช้บังคับอย่างเป็นรูปธรรม

ให้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ใช้หลักเกณฑ์ของการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นหนึ่งในมาตรการพัฒนาและรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล

ให้รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ จัดให้มีระบบการกำกับ ดูแล ตรวจสอบการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในแต่ละระดับอย่างเหมาะสม

จัดให้กลไกการให้ข้อมูลวิชาการด้านยาที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลของโรคเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ (evidence base) และการรักษา ตลอดจนราคากลางของยา โดยข้อมูลต้องเข้าถึงง่ายเป็นปัจจุบัน ถูกต้องและน่าเชื่อถือ

2. จัดให้มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยาซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยากับสถานพยาบาลทุกสังกัดเพื่อตรวจสอบการใช้ยาอย่างเหมาะสม และเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที (real time) ทั้งนี้หน่วยงานดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร หรือ เป็นองค์กรมหาชนตามข้อเสนอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศก็ได้

โดยระหว่างที่ยังไม่มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยา ให้กรมบัญชีกลางจัดให้มีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอก โดยอาจมีการจำกัดวงเงิน หรือ อาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอก เช่น จำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาต่อปี ค่ารักษาต่อปี ภูมิลำเนาของผู้ป่วย เป็นต้น โดยหากการรักษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง ทำการตรวจสอบโดยละเอียด และกรมบัญชีกลางควรจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอกของแต่ละโรงพยาบาลว่า แต่ละโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใด ให้สาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้รับทราบโดยเปิดเผยด้วย

3. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา

ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล

ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านต้นทุน มาตรฐาน ระยะเวลาในการส่งมอบ การให้บริการ และราคา ประกอบการตัดสินใจ

ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อกำหนดคุณสมบัติของบริษัทคู่ค้าใน TOR ให้บริษัทคู่ค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 มาตรา 123/5 และมีระบบอบรมเกณฑ์จริยธรรมแก่พนักงาน โดยให้เป็นคะแนนบวกใน price performance

ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อกลไกต่อรองราคาตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด

4. ให้เพิ่มความเข้มงวดของระบบการตรวจสอบภายใน ทั้งในระดับสถานพยาบาล และระดับหน่วยงานต้นสังกัดของสถานพยาบาล

ข้อเสนอแนะเชิงภารกิจ

1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มงวด

2. การผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา

ให้กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติบังคับใช้เกณฑ์จริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ประชาสัมพันธ์ และปลูกฝังให้บุคลากรและภาคประชาชน มีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเสนอขายยาอย่างเหมาะสม

ให้สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีเกณฑ์จริยธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายยา และการสั่งจ่ายยาในจรรยาบรรณวิชาชีพ

ให้เกณฑ์จริยธรรมเป็นกลยุทธ์เสริมสร้างธรรมาภิบาลระบบจัดซื้อและควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของสถานพยาบาล

3. การปลุกจิตสำนึกบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ให้หน่วยงานต้นสังกัดประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์จริยธรรมให้บุคลาการรับทราบ และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการปฏิบัติตนตามเกณฑ์จริยธรรม

ให้สถานพยาบาลประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์จริยธรรม การส่งเสริมขายยา และการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลให้ประชาชนได้รับทราบในรูปแบบของสื่อที่มีความเข้าใจง่าย สร้างเครือข่ายที่ประกอบไปด้วยบุคลากรในสถานพยาบาลและประชาชน ทำการเฝ้าระวังและตรวจสอบ การส่งเสริมการขายยา และการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงมีช่องทางในการร้องเรียนและแจ้งข้อมูลการกระทำผิดให้แก่หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรง

ให้กรมบัญชีกลางประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการของข้าราชการ ให้ผู้ใช้สิทธิมีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช้สิทธิของตนโดยไม่สุจริต

4. การสร้างมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมของภาคเอกชน เพื่อป้องกันการส่งเสริมการขายยาอย่างไม่เหมาะสม

ให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช.ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมตามาตรา 123/5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องให้แก่บริษัทผู้จำหน่วยยาให้เกิดความรู้ความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

อนึ่ง ข้อเสนอแนะดังกล่าวมุ่งเสนอต่อสถานพยาบาลของทางราชการ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งครอบคลุมถึงการรักษาพยาบาลตามสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และการรักษาพยาบาลตามสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่นเท่านั้น หากข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นเป็นประโยชน์อาจนำไปใช้กับสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการในระบบโครงการประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าก็ได้

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 20,476 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2545 เป็น 46,481 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2550 และยังคงมีอัตราค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 71,016 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2559 โดย คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาสำนักงาน ป.ป.ช.ที่มีนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ได้ศึกษาวิเคราะห์มาตรการปรับปรุงระบบการควบคุม การเสนอการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิรักษาพยาบาล เพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น