คนไม่สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันมือสองจากที่ “บ้าน” มากสุด นักวิจัย ระบุ “เด็ก - ผู้หญิง - ผู้สูงวัย” ถูกทำร้ายทางอ้อม เสี่ยงหอบ - หืด ป่วยง่าย แนะเร่งรณรงค์ห้ามสูบที่บ้าน พร้อมศึกษาข้อมูลกฎหมายควบคุมสูบบุหรี่ในบ้าน อีกทางเลือกเพื่อปกป้องคนไม่สูบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2557) โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมมือกับสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคภาคต่างๆ สำรวจประชากรจาก 20 จังหวัดในทุกภูมิภาค รวมถึงกรุงเทพฯ โดยการเก็บข้อมูลภาคสนาม ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป รวม 19,468 คน ประเด็นการสำรวจในหัวข้อ “การได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทย” โดยการวิจัยได้ใช้กลุ่มประชากรตัวอย่างจำนวน 19,468 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป คิดเป็นประชากรที่ไม่สูบบุหรี่จำนวน 48 ล้านคน คนสูบบุหรี่จำนวน 10 ล้านคน โดยพบว่า มีคนที่ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น สูงถึง 72.6% หรือคิดเป็นประชากรกว่า 34 ล้านคน ที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้ที่สูบบุหรี่ โดยสถานที่ได้รับควันบุหรี่บ่อยที่สุด คือ บ้าน 56.3% หรือคิดเป็นประชากรกว่า 19 ล้านคน รองลงมาคือ ที่ทำงาน 46.1% ที่ร้านอาหาร 35.6% และสถานที่ขนส่งสาธารณะ 25% โดยผู้หญิงได้รับควันบุหรี่ที่บ้านมากกว่าผู้ชาย 68.5% และ 44.1% ตามลำดับ ซึ่งพบว่าจำนวนนี้ไม่แตกต่างจากที่เคยสำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยสถานที่ได้รับควันบุหรี่ของผู้ได้รับควันบุหรี่บ่อยที่สุดคือ ที่บ้าน เช่นเดียวกัน คือ 55%
ปัจจุบันประเทศไทย มี พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553 กำหนดประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ โดยมีสาระหลักๆ คือ ให้มีการกำหนดเขตปลอดบุหรี่ ผู้ใดฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ มีโทษปรับ 2,000 บาท และกำหนดให้ผู้รับผิดชอบดูแลสถานที่ มีหน้าที่จัดสถานที่ให้ปลอดบุหรี่ด้วย หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับ 20,000 บาท โดยกำหนดสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ ได้แก่ 1. พื้นที่ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่ทำงาน สุขา 2. พื้นที่เปิดโล่งแต่มีหลังคา อาทิ ส่วนให้บริการอาหารของร้านอาหารไม่ติดเครื่องปรับอากาศ จุดรอรถโดยสาร
3. พื้นที่เปิดโล่งไม่มีหลังคา อาทิ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา สถานที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น 4. ตลาด และ 5. ยานพาหนะสาธารณะทุกประเภท 6. สถานที่พัก ห้ามเฉพาะบริเวณโถงพักคอยและทางเดินอาคารของ โรงแรม หอพัก อพาร์ตเมนต์ อาคารชุดคอนโด เป็นต้น แต่ยังไม่ได้บังคับถึงภายในห้อง จากข้อมูลดังกล่าวจึงพอประมวลได้ว่า “บ้าน” ยังเป็นช่องว่างของการควบคุมบุหรี่ และพิจารณาให้มีกฏหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้ได้รับควันบุหรี่อีกต่อไป โดยเริ่มต้นจากภายในสถานที่พักกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่
ทั้งนี้ การศึกษาตัวอย่างการห้ามสูบบุหรี่ในบ้านของต่างประเทศ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย และอีกหลายรัฐในประเทศอเมริกา หน่วยงานที่ดูแลที่พักอาศัยของรัฐ คล้ายการเคหะแห่งชาติของไทย มีนโยบายให้อาคารที่มีหลายครอบครัวอาศัยอยู่มีกฎห้ามสูบบุหรี่ภายในห้องพักโดยเฉพาะ รวมทั้งในหอพัก อพาร์ตเมนต์ เป็นต้น ซึ่งการควบคุมนี้พบว่ามีส่วนช่วยลดการได้รับควันมือสองลงได้
ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า บ้านซึ่งเป็นสถานที่ส่วนบุคคลกำลังกลายเป็นแหล่งสำคัญที่ทำร้ายคนในบ้าน โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง/แม่บ้าน ผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าคนในบ้านมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก็จะยิ่งส่งผลให้อาการป่วยแย่ลงหรือฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น สิ่งที่น่ากังวล ก็คือ เด็ก จากงานวิจัยต่างประเทศระบุชัดเจน ว่า ควันบุหรี่ส่งผลให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคหอบ หืด โรคภูมิแพ้ และมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ นอกจากนั้นยังส่งผลให้เด็กเกิดความเคยชินจนมองเรื่องการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ และอาจตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ในอนาคตได้
ศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของทีมวิจัยสรุปสาเหตุของปัญหาได้ ว่า การรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในบ้านของประเทศไทยยังน้อยมาก รวมไปถึงการสื่อสารของคนในครอบครัวที่ยังมีความเกรงใจกัน เช่น พ่อสูบบุหรี่ คนเป็นลูกก็ไม่กล้าที่จะบอก หรือคนเป็นแม่เองก็อาจจะรู้สึกว่ามีอำนาจในการต่อรองน้อย จึงไม่กล้าที่จะห้ามปรามอย่างตรงไป ตรงมา เพราะอาจจะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ขณะเดียวกัน กฎหมายในบ้านเรามุ่งเน้นห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและถือว่าเป็นจุดแข็ง แต่ในทางกลับกันการศึกษาครั้งนี้พอจะบอกได้ว่า “บ้าน” ซึ่งเป็นที่ส่วนบุคคลและน่าจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่กลับกลายเป็นจุดอ่อนจากการเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพราะเมื่อนโยบายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเข้มงวด บ้านจึงเสมือนจุดผ่อนปรนของคนสูบบหรี่ เนื่องจากไม่มีกฎหมายควบคุม ผลกระทบตามมาจึงเกิดกับคนใกล้ชิดโดยตรง
ศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า ควรรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนถึงพิษภัยที่เกิดจากบุหรี่ในบ้านให้เข้มข้นขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้ โดยย้ำให้เห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนในครอบครัวไม่ใช่คนอื่นไกล รวมถึงผู้ที่อาศัยในบ้าน คอนโด แฟลต เป็นต้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ สามารถเป็นผู้นำในการสร้างความตระหนักรู้ได้ดี ตลอดจนการรณรงค์ให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ให้มีภูมิความรู้เป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ในบ้านของผู้ปกครอง สามารถที่จะสื่อสารบอกถึงความไม่ต้องการรับควันจากคนสูบบุหรี่ได้
“ส่วนมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ในบ้านนั้น มองว่า อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหา แต่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน จะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุน เพราะการจะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ต้องเริ่มจากการที่ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและให้การยอมรับกับเรื่องดังกล่าวก่อนเป็นอันดับแรก อีกทั้งยังต้องศึกษาความต้องการของประชาชนต่อกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่ในบ้าน ตลอดจนรูปแบบมาตรการของกฎหมายที่เหมาะสม ทั้งนี้ กติกาที่พอจะนำมาใช้ควบคุมผลกระทบจากควันบุหรี่ได้ในบ้านเรา เช่น กฎหมายที่คนข้างบ้านสามารถร้องเรียนเมื่อได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ เป็นต้น” ศ.นพ.วิชัย กล่าว