xs
xsm
sm
md
lg

“โรคแมวข่วน” ทำตับม้ามโต สมองอักเสบ “แล็บอณูวิทยาชั้นสูง” วินิจฉัยได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“โรคแมวข่วน” โรคอุบัติใหม่ในไทย กรมวิทย์ ชี้ “ห้องแล็บอณูวิทยาชั้นสูง” สามารถตรวจวินิจฉัยได้ จากการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อ ชี้ ทำให้เกิดผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโตไข้สูง บางรายอาจปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ ตับม้ามโต สมองอักเสบ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการอณูวิทยาชั้นสูง สามารถช่วยตรวจวินิจฉัยทั้งโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ทันต่อสถานการณ์โดยเป็นห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมโดยเทคนิคเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม การหาลำดับนิวคลิโอไทด์ และเทคโนโลยีเอ็นจีเอส (Next generation sequencing technology) ที่มีความจำเพาะและความไวสูง จัดตั้งที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ใช้ระบบการบริหารจัดการและระบบการส่งต่อตัวอย่างที่สอดคล้องตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ในการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับโรคข้ามพรมแดนภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

นพ.สุขุม กล่าวว่า นอกจากการวินิจฉัยโรคร้ายแรง ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญแล้ว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขยังตรวจวินิจฉัยโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อนและมีผลการศึกษาวิจัยน้อย ได้แก่ “โรคแมวข่วน” (cat scratch disease) อันมีสาเหตุจากเชื้อ Bartonella spp. โดยมีแมวเป็นสัตว์รังโรค และมี “หมัดแมว” เป็นพาหะนำเชื้อก่อโรค คนมีโอกาสติดเชื้อผ่านรอยแผลถลอกที่เกิดจากการกัด ข่วนของแมว โดยคนปกติมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่จะมีอาการรุนแรงในคนที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ อาการทั่วไปที่พบ ได้แก่ ผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณใกล้รอยแผลกัด/ข่วน ไข้สูงลอย เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อาเจียน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อาการตับม้ามโตและอาการทางสมองอักเสบได้

“ประเทศไทยมีรายงานการพบเชื้อนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2551 โดยทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้ทำวิจัยเรื่อง การเฝ้าระวังเชิงรุกต่อเชื้อนี้ในสัตว์ฟันแทะในประเทศไทยโดยวิธี multispacer sequence typing (MST) และผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยมของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2559 การตรวจวินิจฉัยนี้ใช้ระยะเวลาในการเพาะแยกเชื้อ 7 - 45 วัน และตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ Bartonella spp. โดยวิธีอณูวิทยา รวมทั้งการตรวจหาลำดับเบสของสารพันธุกรรมเชื้อได้ด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความพร้อมในด้านวิชาการและศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคชั้นสูง เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพของประชาชนจากเชื้อโรคต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น