xs
xsm
sm
md
lg

เด็กเล็กป่วยมือเท้าปากพุ่ง มิ.ย.เดือนเดียวพบถึง 1.2 หมื่นราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค เผย มิ.ย. เดือนเดียว พบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก มากถึง 1.2 หมื่นราย คิดเป้น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยครึ่งปีแรกทั้งหมด เตือนพ่อแม่ - ครูดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ย้ำ สถานศึกษาคัดกรองเด็กนักเรียนมากขึ้นในช่วงหน้าฝน

วันนี้ (21 ก.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเปิดเทอม สถานศึกษาเป็นแหล่งที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ประกอบกับฤดูนี้เป็นฤดูฝน ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะ โรคมือ เท้า ปาก จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 17 ก.ค. 60 พบผู้ป่วยแล้ว 37,943 ราย เสียชีวิต 2 ราย เฉพาะเดือนมิถุนายนในปีนี้ พบผู้ป่วยถึง 12,226 ราย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ ซึ่งพบมากในเด็กอายุ 1 ปีมากที่สุด รองลงมา คือ 2 ปี และ 3 ปี คิดเป็นร้อยละ 26, 24 และ 18 ตามลำดับ โดยผู้เสียชีวิต 1 ใน 2 ราย เสียชีวิตด้วยเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 : EV71) ซึ่งมีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ทั่วไป

“โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด แต่ชนิดที่รุนแรงมาก คือ เอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) การติดต่อของโรคเกิดจากการได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนในจากอุจจาระ หรือฝอยละออง น้ำมูกน้ำลาย น้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย โดยเด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อนี้ มักไม่แสดงอาการ เช่น ไม่มีผื่นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าให้เห็นชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่าป่วย และยังมีผลต่อระบบประสาทและสมอง จึงทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ง่าย และจากการรายงานของโรงพยาบาล 12 แห่งที่เข้าร่วมโครงการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคมือ เท้า ปาก ในเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ได้รับตัวอย่างผู้ป่วยทั้งหมด 113 ราย พบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรกเกิด - 5 ปี (53 ราย) และผลการตรวจผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV 71) ถึง 16 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 30” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จามรดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เองใน 7 - 10 วัน ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือสถานศึกษาดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยปฏิบัติ ดังนี้ 1. มีระบบคัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับ และให้พักฟื้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ 2. สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ และจัดให้มีจุดล้างมือ พร้อมสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวมเป็นประจำ 3. หากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ 4. ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง

“สำหรับผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ ในบางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัว หรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ” อธิบดี คร. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น