xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่แค่น้ำท่วม! หน้าฝนนี้ระวัง “ลูกหลาน” ป่วย “มือเท้าปาก” ขอครูตรวจคัดกรองทุกเช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เตือนศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ช่วยเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก เผย ปี 2560 พบเด็กป่วยแล้ว 18,343 ราย แนะตรวจคัดกรองเด็กทุกเช้า ด้าน คร. จับมือ กทม. อัปคุณภาพศูนย์เด็กเล็ก ยึดหลัก 4 ดี 10 เกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันโรคติดต่อในเด็ก

วันนี้ (25 พ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน และเป็นช่วงโรงเรียนเปิดเทอมที่เด็กมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสพบเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วง มิ.ย.- ส.ค. ของทุกปี เนื่องจากเกิดการแพร่กระจายโรคได้ง่าย ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) รายงานในปี 2560 ตั้งแต่ ม.ค.- 22 พ.ค. พบผู้ป่วยทั่วประเทศรวม 18,343 ราย เสียชีวิต 1 ราย มากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็ก 1 - 3 ปี ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก และประสานสถานศึกษา โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็กให้ดำเนินการตามมาตรการของ สธ.ในการป้องกันและควบคุมโรคนี้

นพ.โสภณ กล่าวว่า โรคมือเท้าปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีที่ดีที่สุด คือ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล จึงขอความร่วมมือครู พี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น เป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือทุกครั้งที่พบว่ามีเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก หากพบเด็กป่วยให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ แจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และให้หยุดเรียน พักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย หากพบว่ามีเด็กป่วยจำนวนมาก ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที และพิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหลายคน หรือปิดโรงเรียนชั่วคราวประมาณ 5 - 7 วัน หากมีเด็กป่วยหลายห้อง หรือหลายชั้นเรียน

วันเดียวกัน ที่สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 บุญรอดรุ่งเรือง ซอยอุดมสุข 18 เขตบางนา กทม. ในการแถลงข่าวกรมควบคุมโรคจับมือกรุงเทพมหานคร “4 ดี 10 เกณฑ์มาตรฐาน ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพรับเปิดเทอม” นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง คร. กล่าวว่า การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล รวมทั้งสถานรับเลี้ยงเด็กให้ปลอดโรคและน่าอยู่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นมาก เพราะสถานที่เหล่านี้ ถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก ซึ่งเด็กจะใช้ชีวิตช่วงกลางวันร่วมกัน หากเด็กคนใดคนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ โดยเฉพาะ 5 โรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก โรคสุกใส โรคตาแดง และโรคอุจจาระร่วง เด็กจะติดกันง่ายและรวดเร็ว ทำให้เด็กต้องหยุดเรียนและอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมองได้

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอมปีนี้ คร. จึงร่วมมือกับ กทม. ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล รวมทั้งสถานรับเลี้ยงเด็กให้ถูกต้องเหมาะสมได้มาตรฐานศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ ด้วยการชู “4 ดี 10 เกณฑ์มาตรฐาน” เป็นแนวทางดำเนินการ โดย ดี 1 คือ ครูผู้ดูแลเด็กมีสุขภาพและความรู้ดี ในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ดี 2 คือ สภาพแวดล้อมของศูนย์เด็กเล็กดี ในอาคารต้องมีบริเวณเพียงพอต่อปริมาณเด็กเล็ก มีสุขอนามัยดี อากาศถ่ายเทดี ทั้งภายในอาคารและภายนอกสะอาด ดี 3 คือ การบริหารจัดการดี ผู้บริหารมีนโยบายส่งเสริมและเอื้อต่อการพัฒนาเด็กทุกด้าน และดี 4 คือ ดีต่อใจผู้ปกครองในการฝากเด็กไว้ในการดูแลของศูนย์ ประกอบอาชีพด้วยความสบายใจ ไม่ห่วง ไม่กังวล

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ส่วน 10 เกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ 1. ครูผู้ดูแลเด็กทุกคนต้องได้รับการอบรมเรื่องการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กเล็กปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย 2. ตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนทุกภาคเรียน 3. ตรวจสุขภาพร่างกายและบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกคนทุกวัน 4. มีมาตรการเบื้องต้น ในการป้องกันควบคุมโรค ได้แก่ การแยกเด็กป่วยอย่างถูกวิธี การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ 5. ครูผู้ดูแลเด็กทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เอกซเรย์ปอด ทุก 1 - 2 ปี 6. ครูผู้ดูแลเด็กมีสุขภาพแข็งแรง หากป่วยต้องหยุดพักที่บ้านจนกว่าจะหาย 7. ครูผู้ดูแลเด็กสอนเด็กป้องกันควบคุมโรคอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง 8. ครู สอนเด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกวัน 9. ครู ดูแลเด็กป่วยเบื้องต้นและส่งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ 10. ครูให้ความรู้ผู้ปกครองเรื่องโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กอย่างน้อยปีละครั้ง

ด้าน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์พบว่า ใน กทม.ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 16 พ.ค. 2560 มีรายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั้งหมด 2,340 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ประเทศ พบว่า กทม.มีอัตราป่วยสูงกว่าประเทศ เมื่อพิจารณาอัตราป่วยจำแนกรายอายุ พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราป่วยสูงที่สุด อัตราป่วย 704.04 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี และกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี กทม. จึงให้ความสำคัญในการดูแลสุขอนามัย ความสะอาดของสิ่งแวดล้อม เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายและลดการป่วยของเด็ก โดยการเปิดเทอมครั้งนี้ได้ร่วมมือกับ คร. ในการป้องกันโรคให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในสถานที่รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล เข้มข้นในมาตรการเพื่อให้เด็กเล็กมีสุขภาพดี ทั้ง 4 ดี และ 10 เกณฑ์มาตรฐานในการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก เพื่อให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสุขภาพดีปลอดภัยจากโรคมือ เท้า ปาก




กำลังโหลดความคิดเห็น