กรมวิทย์ เผย ผลทดสอบ “เครืองวัดความดัน” ใน รพ.สต. และของ อสม. พบตกมาตรฐาน 19% ส่วนใหญ่มาจากความรั่วของความดันในระบบ เสี่ยงกระทบการวินิจฉัยโรค
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง นับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนไทย และคนทั่วโลก และเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร โรคนี้มักมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์และพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการบริโภคอาหาร รสหวาน มัน เค็ม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ไม่รับประทานผักและผลไม้ ขาดการออกกำลังกาย ความอ้วน และ อายุที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและมีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะ เพื่อทราบว่าตนเอง เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ แต่ในปัจจุบันประชาชนสามารถตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ได้ที่บ้านด้วยเครื่องวัดความดันโลหิต ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค และใช้อย่างแพร่หลาย 2 ชนิด คือ เครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอทที่ใช้หูฟังและแบบอัตโนมัติ
นพ.สุขุม กลาวว่า สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทดสอบคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตทั้ง 2 ชนิด ที่ใช้งานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และใช้งาน โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 586 เครื่อง พบว่า มีเครื่องที่ตกมาตรฐานทั้งสิ้น 112 เครื่อง คิดเป็นประมาณร้อยละ 19 โดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องที่ตกมาตรฐานด้านอัตราการรั่วของความดันในระบบ ซึ่งมีสาเหตุ มาจากอุปกรณ์ประกอบชำรุด เช่น คัฟ สาย ลูกยาง เป็นต้น ดังนั้น แม้ว่าเครื่องวัดความดันโลหิตเหล่านี้จะใช้อย่างแพร่หลาย แต่ยังพบว่า มีเครื่องที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ทำให้มีผลกระทบในการวินิจฉัยโรค ผู้ใช้จึงคำนึงถึงข้อควรระมัดระวังในการดูแล รักษาเครื่อง โดยหลีกเลี่ยงการเก็บเครื่องในที่มีความชื้นสูง ฝุ่นละออง ถูกแสงแดดโดยตรงและของมีคม อย่าวางวัตถุที่มีน้ำหนักมากทับลงบนเครื่องและไม่ปั๊มลมเข้าหากไม่ได้สวมปลอกเข้ากับตัวผู้ป่วย ไม่ดึง ยึดหรือบิดปลอกพัน ไม่แกะ ถอด แยกส่วนประกอบซ่อมหรือปรับแต่งเครื่องเอง และสำหรับเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ ควรถอดแบตเตอรี่ออกเมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน
“นอกจากนี้ ในการวัดความดันที่ถูกต้อง ผู้ตรวจควรพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มกาแฟ และก่อนวัดควรนั่งพักให้หายเหนื่อยอย่างน้อย 5 - 10 นาที งดวัดความดันหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ และควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนวัด เพื่อให้ได้ค่าความดันที่ไม่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าที่อ่านได้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ผู้ใช้เครื่องวัดความดันโลหิตควรหมั่นใส่ใจดูแลรักษาเครื่องวัดความดันอย่างต่อเนื่อง และสอบเทียบเครื่องมือเป็นระยะ เพื่อให้ได้มาตรฐาน” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว