สบส. ทำคู่มือแนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อ ในคลินิก ให้คลินิกทั่วประเทศใช้ปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ยึดหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อ้างอิงได้และเหมาะสมสำหรับบริบทของประเทศไทย
วันนี้ (27 ก.ค.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ แนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อสำหรับสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก) ครั้งที่ 4 แก่ผู้ประกอบกิจการ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และบุคลากรด้านสุขภาพ ที่ห้องประชุม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
นพ.ธงชัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีเปิดการประชุมฯ ว่า ด้วยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นองค์กรหลักในการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมผู้ประกอบการด้านบริการสุขภาพเพื่อประชาชนมีสุขภาพดี ชุมชนมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก) จึงได้จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อในคลินิก ให้คลินิกทุกแห่งสามารถนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน สร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ บุคลากรผู้ให้บริการเองก็ปลอดภัย ไร้การติดเชื้อ โดยกรม สบส. ตั้งเป้าปี พ.ศ. 2561 จะเปิดให้ดาวน์โหลดคู่มือ “แนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก)” ผ่านทางหน้าเว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (www.mrd-hss.moph.go.th) พร้อมจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และคลินิกทั่วประเทศ ใช้ถ่ายทอดแก่บุคลากรด้านสุขภาพในสังกัด
“บทบาทของบุคลากรด้านสุขภาพ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อประสบผลสำเร็จ หากบุคลากรสุขภาพไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีการกำหนดนโยบายและไม่ปฏิบัติตามแนวทางในการป้องกันการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ การทำให้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ปราศจากเชื้อ การดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ ย่อมทำให้ทั้งผู้ป่วยและตัวบุคลากรเกิดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการรักษาพยาบาลได้” นายแพทย์ธงชัย กล่าว
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) กล่าวว่า คู่มือแนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาลฯ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 บทด้วยกัน โดยบทที่ 1 กล่าวถึงแนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อในคลินิก 4 มิติ คือ 1) ด้านผู้ให้บริการ ในการทำความสะอาดมือ การใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันและรักษาการติดเชื้อ 2) ด้านผู้รับบริการ ในการตรวจคัดกรอง 3) ด้านอุปกรณ์การแพทย์ ในการทำความสะอาดเครื่องมือให้ปราศจากเชื้อ การใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะสม 4) ด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ ระบบน้ำ การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ และบทที่ 2 กล่าวถึงการป้องกันการติดเชื้อในหัตถการสำคัญที่พบบ่อยในคลินิก อาทิ การป้องกันการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด การฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ การดูแลเส้นฟอกเลือดสำหรับเครื่องไตเทียม การป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา มั่นใจว่า คู่มือฉบับนี้จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานของบุคลากรด้านสุขภาพ เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิต เศรษฐกิจ และชื่อเสียงของการรักษาพยาบาลได้