กพย. - แผนงานฯการอ่าน สสส. เผยผลศึกษา ใช้หนังสือนิทานภาพ “กุ๊กไก่เป็นหวัด” และ “กระจิบท้องเสีย” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ช่วยให้เด็กเข้าใจการสร้างเสริมสุขนิสัย ปลดล็อกวิกฤตเชื้อดื้อยาในเด็ก หลังพบสถานการณ์คนไทยใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ถูกโรค ไม่ถูกวิธี เพิ่มเชื้อดื้อยาถึงขั้นวิกฤต
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ อุทยานการเรียนรู้ TK park สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.), แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกันจัดงาน “ปลดล็อกวิกฤตเชื้อดื้อยา ด้วยรากฐานการอ่านในเด็กปฐมวัย” แถลงผลการศึกษาการใช้หนังสือ “กุ๊กไก่เป็นหวัด” และ “กระจิบท้องเสีย” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.กล่าวว่า 3 โรคยอดฮิตที่นิยมใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น คือ 1. โรคหวัด ไอ เจ็บคอจากไวรัส 2. ท้องเสียและอาหารเป็นพิษ และ 3. บาดแผลทั่วไป ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังคงสั่งยาต้านแบคทีเรียให้กับ 3 โรคโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น โดยต้องรับยาแรงกว่าเดิมในการรักษา และมีความเชื่อที่ผิด เช่น “น้ำมูกเหลืองเขียวหมายถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย” “เมื่อไม่สบายแม้เพียงเล็กน้อยก็ซื้อยาต้านแบคทีเรียมากินกันไว้ก่อน” หรือ “ไข้สูง ปวดเมื่อยมากควรฉีดยา” ซึ่งล้วนส่งผลซ้ำเติมปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมา สสส. กพย. กระทรวงสาธารณสุข และภาคส่วนต่างๆ มุ่งทำงานตรงไปที่บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรในการจ่ายยาอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลต่างๆ ในกว่า 30 จังหวัด รวมถึงในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย และเครือข่ายเภสัชกรรมชุมชนในการให้คำแนะนำกับผู้บริโภค นอกจากนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้จัดอบรมแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ เภสัชกร ถึงทักษะในการสื่อสารเมื่อมีผู้ปกครองเรียกร้องให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเด็กโดยไม่จำเป็น
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า แผนงานฯการอ่าน ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ดำเนินโครงการอ่านสร้างเสริมสุขภาพ ได้ติดตามผลการใช้หนังสือนิทานภาพ 2 เรื่อง คือ กระจิบท้องเสีย และกุ๊กไก่เป็นหวัดเป็นสื่อการอ่านในการสร้างเสริมสุขภาพด้านการใช้ยาอย่างเหมาะสมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 720 ศูนย์ ได้ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ผลจากการใช้หนังสือทำให้เด็กจดจำประโยคจากหนังสือ มีความสุขเมื่อได้ฟังคุณครูและเพื่อนอ่านหนังสือให้ฟัง ที่สำคัญคือ เด็กๆ จดจำพฤติกรรมและนำไปใช้ในการปฏิบัติของตนเอง เพื่อป้องกันและดูแลตนเองยามเจ็บป่วย เช่น ล้างมือก่อนทานอาหาร ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพราะไม่อยากท้องเสียเหมือนกระจิบ ถ้าท้องเสียเด็กๆ จะขอให้ผู้ปกครองทำน้ำเกลือแร่ให้ดื่ม เมื่อเป็นหวัดก็บอกว่า คุณป้าหมอหมีบอกว่าไม่ต้องทานยา นอนพักผ่อน 2 - 3 วันก็หาย หรือควรไปหาหมอก่อนซื้อยามากินเอง ปิดปากเวลาไอจาม และคอยเตือนเพื่อนว่าปิดปากด้วย
“คุณครูส่วนใหญ่รู้สึกดีใจที่มีหนังสือที่สามารถทำให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง ซึ่งหนังสือแนวนี้ในท้องตลาดยังมีน้อย จึงคาดหวังว่าจะทำให้ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ดูแลและพัฒนาเด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญ ว่า หนังสือภาพ หนังสือนิทาน เป็นเครื่องมือทรงพลังที่สามารถสร้างเสริมสุขนิสัยและวิถีสุขภาวะให้กับเด็กๆ ยิ่งพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า การอ่านช่วยสร้างเสริมสุขภาพ และช่วยวางรากฐานกระบวนการเรียนรู้แทบทุกด้าน” นางสุดใจ กล่าว
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) เป็นปัญหาร้ายแรงที่กำลังคุกคามคนทั้งโลก สำหรับประเทศไทยทุกๆ 15 นาที มีคนเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อดื้อยา 1 คน เฉลี่ย วันละ 100 คน สูงกว่าทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้คนไทยเสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 20,000 - 38,000 คน สำหรับในเด็ก สถานการณ์เชื้อดื้อยาตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2554 พบว่า ในรอบ 10 ปี มีปัญหาเชื้อแบคทีเรีย 4 ชนิดที่พบบ่อย และพบการดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้น บางชนิดพบเพิ่มขึ้นกว่า 30 เท่าตัว ซึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหาเชื้อดื้อยาเกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างพร่ำเพรื่อไม่สมเหตุผล
ทั้งนี้ กพย. เล็งเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดผลสัมฤทธิ์นั้น จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็ก กพย. เห็นถึงความสำคัญ จึงผลิตสื่อที่เหมาะสมที่สุด นั่นคือ หนังสือนิทานภาพ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ยาต้านแบคทีเรีย นอกจากจะให้ความรู้และปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ยาที่เหมาะสมให้กับเด็ก ผ่านภาพการ์ตูนที่น่ารักชวนจดจำ โดยคุณ na-ru และผู้แต่งหนังสือนิทานทั้งสองเรื่องนี้ คือ อาจารย์เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป หรือ ตุ๊บปอง ที่เลือกใช้คำที่เหมาะสม มีจังหวะจะโคน มีเสียงสูงเสียงต่ำ ทำให้เด็กๆ สนุกกับการอ่านมากยิ่งขึ้น
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ กระจิบท้องเสีย และกุ๊กไก่เป็นหวัดได้ที่ www.thaidrugwatch.org และ www.happyreading.in.th