xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจง “หมอ” แชร์ใบลาออก รับภาระงานหนักจริง กระจายบุคลากรไม่ได้ผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. แจง “หมอ” แชร์ใบลาออก รับปัญหาภาระงานหนักจริง บุคลากรกระจายตัวไม่พอพื้นที่ห่างไกล ชี้ รวมเงินเดือนในงบเหมาจ่ายบัตรทอง 15 ปี ไม่ช่วยแก้ปัญหาหมอกระจุกตัวในเมือง เร่งแก้ปัญหาเน้นงานส่งเสริมป้องกันโรค ลดเจ็บป่วย ลดมา รพ.

จากกรณีแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) แห่งหนึ่ง ใน จ.เชียงราย ได้โพสต์รูปภาพหนังสือขอลาออกจากราชการ และเขียนข้อความถึงสาเหตุการลาออก ว่า มาจากปัญหาส่วนตัวที่ไม่ได้มีใจจะเรียนแพทย์ตั้งแต่แรก และเผชิญกับปัญหาระบบสาธารณสุข คือ ภาระงานมาก บุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้ต้องทำงานหนัก จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ

วันนี้ (12 ก.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขลาออก ก็ต้องยอมรับความจริง และพยายามหาทางแก้ปัญหา ซึ่งการดูแลประชาชนแม้จะใจรัก แต่งานก็ถือว่าหนักจริงๆ ซึ่งขณะนี้ สธ. ก็พยายามมีนโยบายในการลดปัญหาการเจ็บป่วยจนต้องพบแพทย์ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การทำงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และการทำงานอื่นๆ เพื่อลดการเจ็บป่วยลง

ทั้งนี้ ยอมรับว่า การกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ก็มีผลต่อปัญหาลาออกด้วย เนื่องจากคนก็อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ อยากอยู่โรงพยาบาลใหญ่ คนที่จะไปอยู่โรงพยาบาลห่างไกลต้องเสียสละจริงๆ ขณะเดียวกัน ค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจก็มีผล ทุกอย่างเป็นปัจจัยได้หมด ก็ต้องพยายามปรับแก้ ซึ่งครั้งนี้ที่จะมีการปฏิรูปในหลายๆ ประเด็น ก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ อย่างล่าสุดนายกรัฐมนตรีให้กรอบอัตรากำลังโดยให้ไปทำงานประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบ

เมื่อถามถึง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น และประธานชมรมแพทย์ชนบท คัดค้านร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือร่างกฎหมายบัตรทอง ประเด็นการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะจะทำให้มีปัญหาการกระจายตัวบุคลากร นพ.โสภณ กล่าวว่า ตนยังมองว่าจำเป็นต้องแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน จะทำให้ประชาชนแต่ละจังหวัดมีงบรายหัวในการดูแลรักษา ซึ่งบางจังหวัดเมื่อหักแล้วไม่มีเงินค่ารักษาเลย ล่าสุด มีคนเอาข้อมูลมาให้ว่า รพ. ขนาดใกล้เคียงกัน หักเงินเดือนแตกต่างกัน อย่างบาง รพ. มีบุคลากรอายุมากก็ถูกหักเงินเดือนเยอะ แต่บาง รพ. มีบุคลากรหนุ่มๆ สาวๆ ก็หักเงินเดือนน้อย ซึ่งปัญหาเงินเดือนนอกจากไม่ช่วยเรื่องกระจายบุคลากรแล้ว ยังเกิดความไม่เป็นธรรมในหลายๆ ประเด็น ซึ่งตรงนี้มีข้อมูลหมด

“การรวมเงินเดือนเพื่อช่วยเรื่องกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรทำต่อ เพราะทำมา 15 ปีแล้วไม่ได้ผล และเรื่องการบริหารจัดการควรแก้ที่การบริหารจัดการ ไม่ใช่เอาเงินการดำเนินงานเรื่องซื้อยา หรือค่าบริการประชาชนมาทำ พูดง่ายๆ การบริหารจัดการไม่ควรเอาประชาชนเป็นตัวประกัน และการหักเงินเดือนก็บริหารจัดการยาก ทำให้เกิดความทุกข์ในระบบของคนให้บริการ อย่างการดูแลผู้ป่วยใน ดูแลอย่างดี แต่ทำไปทำมากลับไม่ได้เงิน บางครั้งติดลบอีก บริหารจัดการยาก ผมถามว่าใครคิดว่าบริหารเก่ง ลองให้ รพ. ที่บริหารเงินเยอะๆ มาอยู่ รพ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ก็ได้ ใครเก่งจริงมาอยู่เลย ผมบอกเลยว่า การบริหารจัดการเราต้องมองทั้งระบบ เงินไม่ใช่ของ รพ. ใด รพ. หนึ่ง แต่เป็นของแผ่นดิน เพื่อทำให้ประชาชนทุกคน” ปลัด สธ. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น