xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งตั้ง “กองทุนเยียวยา” จ่ายเงินผู้เสียหายจากการรักษาทุกสิทธิครอบคลุม 67 ล้านคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เร่งตั้ง “กองทุนเยียวยาผู้เสียหายทางการแพทย์” ครอบคลุมทั้งบุคลากรสาธารณสุข - ผู้รับบริการทุกสิทธิการรักษารวม 67 ล้านคน จ่ายเงินชดเชยโดยไม่ไล่เบี้ยเอาผิด เผยเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อ รมว.สธ. แล้ว ด้านเครือข่ายผู้เสียหายฯ ยินดี 15 ปี ความฝันใกล้เป็นจริง

วันนี้ (11 ก.ค.) นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ว่า จากการทำงานที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาแล้วว่า มีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการตั้งเป็น “กองทุนเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข” ซึ่งจะดูแลทั้งผู้ให้บริการ หรือบุคลากรทางการแพทย์ และผู้รับบริการหรือประชาชนที่เข้ารับบริการ ครอบคลุม 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีประมาณ 67 ล้านคน เบื้องต้นจะเป็นในสถานพยาบาลภาครัฐก่อน ส่วน รพ.เอกชนจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ

“ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ป่วย หากได้รับผลกระทบจะมีการเยียวยาช่วยเหลือ โดย สบส.จะทำหน้าที่เป็นธุรการในการเบิกจ่าย คล้ายเป็นหน่วยงานกลางคอยทำงาน โดยรับงบประมาณในการเยียวยาช่วยเหลือจากแต่ละกองทุนมาไว้ส่วนกลาง หากใครได้รับผลกระทบก็จะนำงบส่วนนี้มาดำเนินการ ซึ่งจะไม่แบ่งว่าใครอยู่สิทธิใดใน 3 สิทธิสุขภาพ เรียกว่าเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ส่วนอัตราเท่าไรนั้นต้องมีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขอีกครั้ง” อธิบดี สบส. กล่าวและว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อพิจารณาแล้ว หากเห็นชอบอาจปรับแก้ไม่มาก เพื่อเสนอตามขั้นตอนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการตั้งกองทุนต้องมีการแก้กฎหมายของแต่ละกองทุนรักษาพยาบาลหรือไม่ นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ต้องมีการแก้ไข คือ มาตรา 41 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ. กองทุนประกันสังคม ส่วนสิทธิข้าราชการไม่ต้องแก้ไข เนื่องจากไม่มีในเรื่องการเยียวยาอยู่แล้ว แต่จากการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเดิมไม่มีหน่วยงานกลางทำให้ เมื่อเกิดความเสียหายทางสาธารณสุขใดๆ ก็จะเป็นแต่ละสิทธิสุขภาพ การเจราจาช่วยเหลือก็ไม่มีคนกลางมาทำให้ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร ดังนั้น หากมีกองทุนนี้ขึ้นมาจะช่วยแก้ปัญหาและลดเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขได้ เพราะกองทุนนี้จะไม่มีการไล่เบี้ยใดๆ

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจแทนผู้ป่วยและประชาชนที่ สบส. และ สธ. ขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพียงแต่อยากได้การยืนยันจาก รมว.สาธารณสุข ว่า จะขับเคลื่อนและกฎหมายจะประกาศใช้ได้จริง เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามให้ออกกฎหมายมาตลอด แต่ไม่สำเร็จ ทุกยุคทุกสมัยจะมีการคัดค้านของกลุ่มหนึ่งเสมอ ตนจึงอยากเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยและเห็นความสำคัญกับร่าง พ.ร.บ. นี้ ที่จะมาช่วยกรณีเกิดความเสียหายทั้งแพทย์และคนไข้ โดยขอเชิญชวนช่วยกันลงชื่อผ่าน www.change.org/injuryact เพื่อจะรวบรวมรายชื่อเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล เพื่อช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ออกเป็นกฎหมายได้จริงๆ เสียที

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะนายกแพทยสภา กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว หลักการเบื้องต้นตนเห็นด้วย เพราะในเรื่องของการรักษาไม่ควรมีการไล่เบี้ยเอาความผิดกับใคร
กำลังโหลดความคิดเห็น