xs
xsm
sm
md
lg

คิดสักนิดก่อนทำบุญตักบาตร เป็นคุณหรือโทษ/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เทศกาลปีใหม่ผ่านไปแล้ว
แต่ละท่านก็มีกิจกรรมแตกต่างกันไป โดยกิจกรรมใหม่ในปีนี้ที่หลายท่านเลือก คือ การไปถวายสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙
แต่กิจกรรมหนึ่งซึ่งยังคงทำกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงในเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือแม้แต่วันพระ ก็คือ การทำบุญตักบาตรกับพระสงฆ์
แล้วเราเคยคิดหรือไม่ว่าอาหารที่เราทำบุญตักบาตร เป็นคุณหรือโทษต่อพระสงฆ์ ?
ยิ่งวิถีชีวิตที่เร่งรีบในยุคนี้ ทำให้ผู้คนนิยมความสะดวก ผู้คนจำนวนมากจะเลือกไปใส่บาตรที่ตลาดเช้า เราจะพบว่ามีกับข้าวสำเร็จรูปที่ถูกจัดเป็นชุดๆ เพื่อให้ผู้คนที่ต้องการทำบุญตักบาตรสามารถใส่บาตรได้เลย เพราะมักจะมีพระยืนบิณฑบาตในบริเวณนั้นๆ ราว 2 - 3 รูป
ส่วนใหญ่อาหารจะถูกพ่อค้าแม่ค้าจัดใส่เป็นชุดๆ ในจานบ้าง ในถุงพลาสติกบ้าง เพื่อใส่บาตรเป็นชุดๆ โดยที่บางทีคนที่ทำบุญก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตัวเองใส่บาตรอาหารอะไร
ปีใหม่ทั้งทีหลายคนอยากทำสิ่งดีๆ รับปีใหม่ ไหนๆ จะเริ่มจากการทำบุญรับปีใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลของชีวิต ก็น่าที่จะตั้งใจทำดีแบบให้ถูกวิธี และเกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่นด้วย
ที่สำคัญ สำหรับคนเป็นพ่อแม่ ยังเท่ากับเป็นการสอนและสอดแทรกสิ่งที่ดี เป็นตัวอย่างให้กับลูกอีกต่างหาก
เริ่มจากการทำบุญตักบาตรรับปีใหม่ โดยนำข้อมูลจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เล่าให้ลูกฟังก็ได้ว่า สุขภาพพระสงฆ์ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงฆ์ ปี 2558 พบว่า โรคที่พระสงฆ์ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. โรคเมตาบอลิซึม และไขมันในเลือดผิดปกติ 2. โรคความดันโลหิตสูง 3. โรคเบาหวาน 4. โรคไตวาย หรือไตล้มเหลว และ 5. โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน อันเนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารที่ฆราวาสถวายได้
และเนื่องจากกว่า 90% ของฆราวาสที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่ นิยมซื้ออาหารชุดใส่บาตรให้พระ พบว่า อาหารยอดนิยมส่วนใหญ่ คือ แกงเขียวหวาน พะโล้ ผัดกะเพรา และของทอด เพราะเป็นอาหารที่มีรูปลักษณ์น่ารับประทาน หน้าตาไม่เปลี่ยนมาก หากทำทิ้งไว้เป็นเวลานาน แต่ชุดอาหารเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพพระสงฆ์ไทย โดยพบความเสี่ยงต่อภาวะอ้วน โรคกระเพาะอาหารและกระดูกพรุน เนื่องจากอาหารที่ถวายพระส่วนใหญ่ มีโปรตีนน้อย ผักน้อย มีรสจัด และไขมันสูง
สังเกตไหมว่าแม้พระสงฆ์จะฉันเพียง 2 มื้อ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่อ้วน
อย่าลืมว่า โดยสมณสารูป พระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกายได้เต็มที่เหมือนฆราวาสชายทั่วไป
น่าจะมีการชวนพูดคุยกับลูกให้เห็นภาพหรือดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ แล้วชวนกันเปลี่ยนวิธีทำบุญที่เป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์
เริ่มจากการชวนกันคิดให้มากขึ้น และทำเมนูถวายอาหารพระสงฆ์โดยคำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์เป็นหลัก เลือกอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีประโยชน์ เป็นการทำบุญที่ตั้งใจและส่งเสริมเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์
ยังนึกถึงสังคมในอดีต ซึ่งในยุคสมัยที่ตัวเองเป็นเด็ก ยังจำได้ว่าการทำบุญตักบาตรเป็นเรื่องของทุกคนในบ้าน ทุกคนต้องช่วยกันทำอาหารเอง เตรียมอาหาร โดยที่แม่จะเลือกอาหารที่ดีตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อวัตถุดิบ การหุงข้าวก็จะหุงข้าวใหม่ อาหารที่ปรุงเสร็จ ก็จะเอาส่วนที่ดีถวายพระก่อน ที่เหลือถึงจะนำมากินกันในครอบครัว
ในขณะที่ปัจจุบันเน้นเรื่องความเร็ว เอาความสะดวก จึงใช้รูปแบบการทำบุญตักบาตรด้วยอาหารสำเร็จรูป นี่ยังไม่นับรวมถึงทำให้เรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถุงพลาสติกกลายเป็นสิ่งของหลักที่ผู้คนเลือกใช้ในการทำบุญไปซะแล้ว
รวมไปถึงการทำบุญด้วยข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องกระป๋องก็กลับเป็นที่นิยมในการซื้อหามาทำบุญกันมากมาย
จริงอยู่ว่าการทำบุญเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในท่ามกลางสภาวะโลกร้อนเยี่ยงนี้ เราน่าจะต้องทบทวนและพยายามหาหนทางในการทำบุญแบบไม่ไปเพิ่มภาระให้กับโลก หรืออาจต้องช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความสุขสนุกสนานเบิกบานใจแล้ว ก็อย่าลืมมีช่วงเวลาของการทบทวนชีวิตช่วงปีที่ผ่านมาด้วยนะคะ ว่า เราทำอะไรที่ดีและไม่ดีไปบ้าง มีอะไรที่เราผลัดวันประกันพรุ่งอยากทำแล้วยังไม่ได้ทำมากน้อยขนาดไหน มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจอะไรกับใคร ก็ถือโอกาสช่วงเทศกาลปีใหม่ทบทวนตัวเองกันสักหน่อยนะคะ
สำหรับคนเป็นพ่อแม่ก็ถือโอกาสทบทวนบทบาทหน้าที่ของตัวเองในปีที่ผ่านมาด้วยว่าเป็นอย่างไร มีพฤติกรรมแย่ๆ ของตัวเองที่อยากจะชวนให้สำรวจเพื่อ “เปลี่ยน” รับปีใหม่กันค่ะ
เรื่องเลือกอาหารและสิ่งของมาทำบุญตักบาตรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น