xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมชาติบำบัด” เทรนด์ฮิตดูแลรักษาสุขภาพปี 2560

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายคนอาจมีวิธีในการดูแลรักษาสุขภาพที่แตกต่างกันออกไป แต่จากแนวโน้มของข่าวด้านสุขภาพและสาธารณสุขในช่วงปีวอก 2559 ที่ผ่านมา อาจพูดได้เลยว่า เทรนด์ในการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทยน่าจะพลิกกลับมาสู่ในเรื่องของ “ธรรมชาติบำบัด” มากขึ้น

ธรรมชาติบำบัด (Naturopathy) คือ การดูแลสุขภาพด้วยวิธีทางธรรมชาติ ซึ่งมีหลากหลายวิธี โดยธรรมชาติบำบัดที่น่าจะมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นมีอยู่ด้วยกัน 5 เรื่อง ดังนี้

1. สมุนไพร

สาเหตุที่ “สมุนไพร” จะเฟื่องฟู กลายเป็นเทรนด์ฮิตในการดูแลสุขภาพของคนไทยนั้น สาเหตุหลักเพราะรัฐบาลเองก็สนับสนุน และมีนโยบายผลักดันให้ใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศทั้งการซื้อใช้ในประเทศและการส่งออก รวมไปถึงการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้ไม่ให้สูญหาย

นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เล่าว่า รัฐบาลมีทิศทางที่ชัดเจนแน่นอนว่าต้องการผลักดันสมุนไพรไทย ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ให้ความสำคัญ โดยขณะนี้มีการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564 ซึ่งจะส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพร เชื่อมโยงตั้งแต่การปลูกสมุนไพรไทย การส่งเสริมการนำไปใช้ทั้งการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล การแปรรูปเป็นวัตถุดิบ การผลิตในระดับอุตสาหกรรม รวมไปถึงการส่งเสริมการตลาดเพื่อให้คนไทยหันกลับมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของยาสมุนไพร หรือเวชภัณฑ์ อาหาร หรืออาหารเสริม และเครื่องสำอาง ทั้งเพื่อการใช้เองในประเทศไทยและการส่งออก ซึ่งหากผลักดันให้ประสบความสำเร็จจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยได้อย่างมาก โดยวางไว้ว่าภายใน 5 - 10 ปี จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น ที่สำคัญ คนไทยยังได้ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเองด้วย

“ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพสูงมาก ทั้งเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ หรือการออกกำลังกายคนไทยตื่นตัวกันมากขึ้น รวมไปถึงการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพก็มีความตื่นตัวและหันมาใช้กันมากขึ้น เพียงแต่ปัญหาคือแม้จะหันมาใช้ แต่ยังขาดองค์ความรู้ในการใช้ ซึ่งตรงนี้กรมฯ จะเร่งส่งเสริม เพราะเป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนแม่บทด้วย ซึ่งล่าสุดกรมฯ ได้จัดทำแอปพลิเคชัน “สมุนไพรไทย” หรือ “Thai Herbs” ซึ่งเวอร์ชันแรกจะมีข้อมูลสมุนไพรกว่า 100 ชนิด ในการให้คำแนะนำวิธีการปลูก สรรพคุณต่างๆ ของสมุนไพรและการนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพตัวเองว่าทำได้อย่างไร เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้” นพ.สุเทพ กล่าว

นอกจากการให้ความรู้แล้วนั้น นพ.สุเทพ กล่าวว่า ยังต้องส่งเสริมการตลาดสมุนไพรไทยด้วย เพื่อให้คนไทยเกิดการใช้ยาสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีความร่วมมือกับทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐาน ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อ ตัวเนื้อยาได้ตามมาตรฐาน และโรงงานผลิตต้องได้มาตรฐาน GMP เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้ยาสมุนไพร และเกิดการใช้เพิ่มขึ้น

นพ.สุเทพ กล่าวว่า สำหรับในโรงพยาบาลก็จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้จำนวนโรงพยาบาลสังกัด สธ. ที่มีการใช้ยาสมุนไพรซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ส่วนอัตราการใช้ยาสมุนไพรในแต่ละโรงพยาบาลในปี 2559 ตั้งเป้าอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18.5 ส่วนปี 2560 เราตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 คือ เข้ามาที่โรงพยาบาล 50 คน ต้องได้รับการจ่ายยาสมุนไพร 1 คน นอกจากนี้ จะร่วมกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยส่งเสริมให้เกิดแนวทางการใช้ยาสมุนไพรเป็นลำดับแรกในการรักษา (First Line Drug) เพิ่มขึ้นด้วย หมายความว่าหากเข้ามาด้วยอาการเช่นนี้ เข้าเกณฑ์เช่นนี้ให้ใช้ยาสมุนไพรตัวนี้ทันที ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 ตัว คือ ฟ้าทะลายโจร และ ขมิ้นชัน ส่วนความไม่มั่นใจในการใช้ยาสมุนไพรของแพทย์แผนปัจจุบัน กรมฯ มีการจัดอบรมระยะสั้นให้แก่แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและมั่นใจในการใช้ยาสมุนไพร โดยจะร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ให้มีการบรรจุหลักสูตรแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยในการเรียนการสอนด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น

แม้ปัจจุบันคนไทยจะหันมาใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหาในเรื่องขององค์ความรู้ โดยเฉพาะข้อมูลตามโซเชียลฯ ที่ว่ากินนั่นแล้วดี กินนี่แล้วหายจากมะเร็ง ทั้งที่ยังไม่มีองค์ความรู้ที่แน่ชัด เรื่องนี้ นพ.สุเทพ ให้คำแนะนำว่า สมุนไพรจะมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีขาว คือ กลุ่มที่มีความปลอดภัย เพราะผ่านการวิจัยมีข้อมูลที่ชัดเจน ก็จะส่งเสริมให้ใช้ กลุ่มสีเทา คือ น่าจะมีประโยชน์ อย่างพวกที่ส่งกันในโซเชียลฯ คือ พอมีข้อมูล แต่ยังไม่ชัดเจน ต้องมีการศึกษาเพิ่ม ไม่ใช่ว่าออกมาเตือนเพราะว่าไม่ส่งเสริมการใช้สมุนไพร แต่ก่อนจะใช้ต้องมั่นใจเสียก่อน ซึ่งในกลุ่มที่ยังไมชัดเจนนี้อยากให้รอการวิจัยให้เรียบร้อยว่าใช้ได้ไม่มีปัญหา เพราะอย่างสมุนไพรที่อ้างว่ารักษามะเร็งข้อมูลก็ยังไม่ชัดเจนว่า มีสารตัวใด ต้องใช้ปริมาณมากเพียงใด เกิดผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ ซึ่งการกินสุ่มสี่สุ่มห้าโดยขาดความรู้อาจเป็นอันตรายได้ และสุดท้ายคือกลุ่มสีดำที่มีอันตราย และไม่ส่งเสริมให้ใช้

2. รับประทานอาหารตามแนวธรรมชาติ

เรื่องนี้มีความสืบเนื่องมากจากสมุนไพร เพราะการผลักดันให้เกิดการใช้สมุนไพรนั้น นอกจากเป็นยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพรแล้ว ยังสนับสนุนให้มีการนำสมุนไพรมาประกอบเป็นอาหารรับประทาน เพราะสมุนไพรแต่ละอย่างมีสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละพื้นที่ท้องถิ่น ซึ่ง นพ.สุเทพ ย้ำว่า จะผลักดันให้เกิดการนำสมุนไพรมาใช้รับประทานเป็นอาหารด้วย โดยจะจัดทำให้เกิดองค์ความรู้ว่า พืชผักสมุนไพรท้องถิ่นนี้ทำให้ในพื้นที่ถึงนิยมให้กิน กินแล้วช่วยเรื่องอะไร โดยจะนำวิทยาศาสตร์มาอธิบายควบคู่กันไป เมื่อเกิดองค์ความรู้ที่ชัดก็จะสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการรับประทานว่าก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร

อย่างไรก็ตาม นอกจากนำสมุนไพรมาเป็นอาหารเพื่อดูแลร่างกายแล้ว เชื่อว่า หลายคนต้องเคยได้ยินว่า กินอย่างไรก็ได้อย่างนั้น แน่นอนว่า หากกินอาหารหวานมันเค็ม ย่อมนำมาซึ่งโรคเรื้อรังในอนาคตแน่นอน แต่หากรับประทานอาหารที่สดสะอาด ปลอดสารพิษ ลดหวานมันเค็ม กินรสจืด เน้นผักผลไม้ และรับประทานแบบหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นดูแลร่างกายตั้งแต่ต้นทาง เพราะนำสิ่งดีๆ เป็นประโยชน์เข้าร่างกาย ดังนั้น ปัจจุบันคนไทยที่หันมานิยมรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น หากยึดตามแนวทางดังกล่าวก็เชื่อว่าจะช่วยให้มีสุขภาพดี หลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บได้ ตามแนวคิดที่ว่ากินอาหารให้เป็นยา แทนที่ปัจจุบันซึ่งคนไทยเรากินยาเป็นอาหารไปเสียแล้ว

3. ธาราบำบัด (Hydrotherapy)

ธาราบำบัดมีองค์ความรู้ที่แน่ชัดมานานแล้วว่า สามารถช่วยดูแลสุขภาพและฟื้นฟูร่างกายได้ โดยอาศัยความอุ่นและความร้อนของน้ำในการช่วยฟื้นฟูร่างกาย เพราะช่วยให้หลอดเลือดขยาย การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น กล้ามเนื้อดีขึ้น ยิ่งแห่งใดที่มีน้ำแร่ก็จะได้รับประโยชน์จากแร่ธาตุต่างๆ ด้วย รวมไปถึงการเคลื่อนไหวในน้ำ ที่ช่วยในเรื่องของการฟื้นฟูร่างกายควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด

ธาราบำบัด มีการศึกษา วิจัย และพัฒนารูปแบบการออกกำลังกายในผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมและมีภาวะอ้วนขึ้น อย่างโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ จ.ชลบุรี ก็มีการใช้แนวทางดังกล่าวในการดูแลผู้สูงอายุ โดยจัดโปรแกรมการออกกำลังกายร่วมกับเครื่องมือที่เสริมสร้างกำลังกล้ามเนื้อในน้ำหลักการใช้น้ำบำบัด คือ การใช้มวลน้ำอุ้มน้ำหนักตัวแทน และใช้ความอุ่นของน้ำสร้างความสุขสบาย โดยใช้น้ำอุ่น อุณหภูมิความร้อน 30 - 34 องศาเซลเซียส เมื่อน้ำอยู่ในระดับเสมอไหล่ มวลน้ำจะอุ้มพยุงน้ำหนักตัว น้ำหนักตัวจะเหลือเพียงร้อยละ 10 ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักตัวและแรงกระแทก ร่างกายเคลื่อนไหวดีขึ้น ความอุ่นของน้ำจะช่วยกล้ามเนื้อผ่อนคลายได้เกือบทุกส่วน เอื้อให้การเคลื่อนไหวของร่างกายได้มากขึ้น และไม่เจ็บปวด สามารถบริหารกล้ามเนื้อ สร้างความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น

นพ.สุเทพ กล่าวว่า รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วย โดยแต่ละพื้นที่ก็ชูของดีของตัวเองขึ้นมา ซึ่งบางแห่งอาจให้สมุนไพร บางแห่งอาจให้แหล่งน้ำแร่ของตัวเองมาดำเนินการธาราบำบัด ซึ่งพื้นที่ที่เห็นเด่นชัด คือ จ.ระนอง โดย รพ.ระนอง ที่มีการจัดบริการธาราบำบัด ทั้งส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพและบริการสปา ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว

4. การสวดมนต์บำบัด หรือสมาธิบำบัด

การสวดมนต์บำบัด คือ หลักการหนึ่งของ Vibrational Therapy คือ การใช้คุณสมบัติของคลื่นบางคลื่นมาบำบัดความเจ็บป่วย สำหรับการสวดมนต์ด้วยตัวเอง เป็นการเหนี่ยวนำตัวเอง ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะหากใครสักคนคิดที่จะสวดมนต์ นั่นหมายความว่าเขากำลังมีความปรารถนาดีต่อตนเอง โดยวิธีการสวดมนต์ด้วยตนเองควรปฏิบัติดังนี้ 1. ไม่ควรสวดมนต์หลังกินอาหารทันที ควรทิ้งช่วงให้ร่างกายเริ่มผ่อนคลาย อาจเป็นเวลาก่อนเข้านอน หาสถานที่ที่เงียบสงบ 2. สวดบทสั้นๆ 3 - 4 พยางค์ โดยใช้เวลาประมาณ 10 - 15 นาทีขึ้นไป จะทำให้ร่างกายได้หลั่งสารซีโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ช่วยควบคุมความหิว อารมณ์ และความโกรธ โดยหากสวดมนต์ด้วยบทยาวๆ จะได้ความผ่อนคลายและความศรัทธา

ขณะที่การทำสมาธิจะทำให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ช่วยให้ร่างกายสดชื่นมีภูมิต้านทานโรค จากผลวิจัยทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีการฝึกทำสมาธิโดยการหายใจช้าและลึก วันละประมาณ 15 นาที ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน ค่าความดันโลหิตลดลงมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกทำสมาธิ ซึ่ง สธ. ก็สนับสนุนให้คนไทยทุกคนหันมาฝึกการทำสมาธิและควรทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน เริ่มจากวันละ 5 นาที เพิ่มเป็น 10 นาทีในวันต่อไป และเพิ่มเป็น 15 นาทีตามลำดับขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ซึ่งในหลายโรงพยาบาลก็เริ่มมีการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้แล้ว และเห็นผลได้จริง อย่างช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คนไทยก็หันมาสวดมนต์ข้ามปีมากขึ้น หากสามารถนำมาปฏิบัติเพิ่มในชีวิตประจำวันด้วย ก็เชื่อว่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะได้รับความนิยมในการนำมาดูแลสุขภาพกายและจิตของตัวเองให้ดีขึ้น

5. การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการรักษาพยาบาล

ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวทางส่งเสริมในเรื่องของโรงพยาบาลสีเขียว โดยให้ทุกโรงพยาบาลพยายาจัดสภาพแวดล้อมให้มีความร่มรื่น ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ดีมีผลต่อการรักษาฟื้นฟูของผู้ป่วย ซึ่งปี 2560 น่าจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ก็จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางการบำบัดที่จะพบเห็นมากขึ้นในปี 2560

เรียกได้ว่า ในระดับนโยบายมีความชัดเจนที่จะส่งเสริมให้คนไทยให้มาใช้สมุนไพรไทยในการดูแลตัวเองและการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน คนไทยเองก็หันมาใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงการจัดสวดมนต์ทำสมาธิบำบัด ธาราบำบัด และการจัดสิ่งแวดล้อม สธ. ก็มีการสนับสนุน จึงพูดได้ว่าแนวโน้มในปีหน้า “ธรรมชาติบำบัด” มาแรงแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น