xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเคาะร่าง กม.จัดสวัสดิการช่วยเหลือ นร.ป่อง ครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คกก. ป้องกันท้องวัยรุ่น เตรียมเคาะร่าง กม. ลูก 5 กระทรวง 19 ธ.ค. นี้ ขับเคลื่อนแก้ปัญหาป่องในวัยรุ่น หวังกำหนดแนวทางชัดเรื่องการจัดการศึกษาเพศวิถี รับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ สวัสดิการช่วยวัยรุ่นขณะท้องและหลังคลอดเป็นครั้งแรกของไทย

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงานจะต้องไปออกกฎกระทรวงเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแต่ละหน่วยงานจะมีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร และนำมาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งได้มีการประชุมครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถพิจารณารายละเอียดได้มากนัก เนื่องจากคณะกรรมการฯ ยังไม่ครบองค์ประชุม เพราะยังขาดผู้ทรงคุณวุฒิตามที่ พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ฯ กำหนด

“กฎกระทรวงของแต่ละกระทรวงนั้นมีการยกร่างมาเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากการประชุมครั้งที่แล้ว พล.ร.อ.ณรงค์ ก็ได้มอบให้แต่ละกระทรวงกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ พร้อมนำมาเสนออีกครั้งในวันที่ 19 ธ.ค. 2559 ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งที่สองของคณะกรรมการ ซึ่งจะเป็นวันที่มีคณะกรรมการครบองค์ประชุม นอกจากนี้ ในวันดังกล่าวจะมีการเสนอร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่มีการพิจารณาเพิ่มเติมและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ที่ประชุมด้วย” นพ.ธงชัย กล่าว

อนึ่ง คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่งจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 8 คน ประกอบด้วย รมว.พม. รมว.ศึกษาธิการ รมว.สาธารณสุข ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และผู้แทนเด็กและเยาวชน 2 คน โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้จะครอบคลุมการดูแลวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 10 - 20 ปี สาระสำคัญคือ ส่งเสริมใหวัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเองเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ และมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ได้รับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ และได้รับการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่วัยรุ่นขณะที่ตั้งครรภ์และหลังคลอด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น