xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สปสช.เห็นชอบรูปแบบจ่ายค่ารักษาป่วยฉุกเฉิน รพ.นอกสิทธิ เตรียมเอ็มโอยูร่วม รพ.เอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด สปสช.เห็นชอบรูปแบบจ่ายค่ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้า รพ. นอกสิทธิ ชี้ วิกฤตสีแดง 72 ชั่วโมงแรก “บัตรทอง” จ่ายตามตารางราคาที่ กพฉ. กำหนด ฉุกเฉินสีเหลือง และเขียว จ่ายตามข้อบังคับบัตรทอง เตรียมเอ็มโอยูร่วม รพ.เอกชน รพ.นอกสิทธิ คาด เริ่มใช้ก่อนสิ้นปีนี้ เป็นของขวัญปีใหม่คนไทย ย้ำ หลัง พ.ร.บ. สถานพยาบาลใหม่บังคับใช้ รพ.เอกชน ทุกแห่งต้องเข้าร่วม

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบรูปแบบการจ่ายชดเชยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้ที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่ไม่ได้ระบุไว้ตามสิทธิ โดยภายในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะส่งรายละเอียดตารางราคาและอัตราจ่าย (Fee Schedule) ที่เพิ่มเติมค่ายาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามาให้ สปสช. จากนั้นภายในวันที่ 23 ธ.ค. 2559 สปสช. จะลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ สพฉ. รพ.เอกชน และ รพ.นอกระบบที่จะเข้าตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ นอกจากนี้ จะประสานไปยังกรมบัญชีกลางที่รับผิดชอบสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่รับผิดชอบผู้ประกันให้เข้าร่วมการลงนามดังกล่าวพร้อมกัน เพื่อจะเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ได้ทันทีและประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนไทย แต่หากกรมบัญชีกลาง และ สปส. ยังไม่พร้อม สิทธิบัตรทองก็จะเริ่มดำเนินการก่อน

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รูปแบบการจ่ายชดเชยกรณีการเข้ารักษาพยาบาลฉุกเฉินในโรงพยาบาลนอกสิทธิ แยกเป็น 3 กรณี คือ ผู้ป่วยฉุกเฉินระดับสีแดง สีเหลือง และ สีเขียว สำหรับกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินสีแดง คือ ระดับวิกฤต ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ไปสถานบริการที่มีการทำ MOU โดยใน 72 ชั่วโมงแรกให้กองทุนบัตรทองเป็นผู้จ่ายในอัตราตามตารางราคาและอัตราจ่าย (Fee Schedule) ตามที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) กำหนด หลังจาก 72 ชั่วโมงหากผู้ป่วยสามารถย้ายกลับสถานพยาบาลตามสิทธิได้ให้ย้ายกลับ เว้นกรณีที่ไม่สามารถย้ายกลับได้ทั้งกรณีสถานพยาบาลต้นสังกัดไม่มีเตียงรองรับ หรือและอาการผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น กองทุนฯ จะจ่ายให้ตามอัตราตารางราคาฯ แต่หากย้ายได้แต่ผู้ป่วยไม่ต้องการย้ายเอง ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนหลัง 72 ชั่วโมงเอง

“กรณีไปสถานบริการอื่นที่ไม่มีการทำ MOU ร่วมกับ สปสช. ให้กองทุนฯ จ่ายตามอัตราจ่ายเดิมตามข้อบังคับฯคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 โดยผู้ป่วยนอก จ่าย 700 บาทต่อครั้ง ผู้ป่วยในจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องและค่าอาหาร ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน รายละ 4,500 บาทต่อครั้ง กรณีผ่าตัดใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง จ่ายตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 8,000 บาทต่อครั้ง กรณีผ่าตัดใหญ่และใช้เวลาเกินกว่า 2 ชั่วโมง หรือรักษาใน ไอ.ซี.ยู. จ่ายตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 14,000 บาท ต่อครั้งและค่ารถพยาบาล หรือเรือพยาบาลนำส่งจ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 500 บาทต่อครั้ง” นพ.ประจักษวิช กล่าว

นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินระดับสีเหลืองหรือฉุกเฉินเร่งด่วน และสีเขียวคือฉุกเฉินไม่เร่งด่วน ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกให้กองทุนฯ จ่ายตามอัตราตามข้อบังคับฯ และหลังจาก 24 ชั่วโมง กรณีไม่สามารถย้ายกลับเข้าระบบได้ทั้งไม่มีเตียงรองรับและอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นให้กองทุนจ่ายตามราคาเรียกเก็บ แต่หากไม่ย้ายกลับ เพราะผู้ป่วยไม่ย้าย ผู้ป่วยจะต้องจ่ายค่ารักษาเอง

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้มี รพ.เอกชนจะ MOU กับ สปสช. เพื่อเข้าร่วมนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินฯด้วยความสมัครใจแล้ว 90% แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. ... ฉบับใหม่ ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว มีผลบังคับใช้ รพ.เอกชนทุกแห่ง จะต้องเข้าร่วมนโยบายนี้ทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น