xs
xsm
sm
md
lg

ไร้ข้อมูลชัด “รางจืด” ล้างน้ำตาลในเลือด คนป่วยเบาหวานกินมากเสี่ยงมือเท้าชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อภัยภูเบศรแจง “รางจืด” ล้างน้ำตาลในเลือด ป้องกันเส้นเลือดตีบ ผลการศึกษาไม่ชัดเจนต้องกินมากน้อยแค่ไหน แต่ช่วยล้างสารพิษได้ เตือนคนเป็นเบาหวานกินแล้วเสี่ยงอาการมือเท้าชา ไร้ข้อมูลใบมะยม - รากเตย ฟื้นฟูตับอ่อน ด้านกรมอนามัย ย้ำ ไร้งานวิจัย “สมุนไพร” ทำความสะอาดหลอดเลือด แนะออกกำลัง ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ยืดอายุหลอดเลือด

จากกรณีมีการเผยแพร่สูตรล้างน้ำตาลในเลือดด้วยรางจืด และการรับประทานใบมะยมสด หรือต้มรากเตยดื่มในการฟื้นฟูตับอ่อน เพื่อควบคุมน้ำตาล และป้องกันน้ำตาลเกาะเส้นเลือด ซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หากเป็นคนไข้เบาหวาน ซึ่งมักมีปัญหาหลอดเลือดตีบนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากน้ำตาลโดยตรง แต่ยังเกิดจากไขมันด้วย ที่มาจับเกาะผนังหลอดเลือด และทำให้เส้นเลือดตีบแคบลง การจะล้างสิ่งเหล่านี้ให้หายไปเลยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดที่บ่งบอกได้ชัดเจน แต่มีการศึกษาโดยการใช้ยาลดไขมันอยู่บ้างว่าสามารถทำให้เส้นเลือดที่ตีบแคบ ขยายขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งบางการศึกษาบอกว่าได้เล็กน้อย บางการศึกษาบอกว่าไม่ชัดเจน แต่เราพบว่าการรักษาเบาหวานที่ดี คุมน้ำตาลที่ดี คุมความดันที่ดี ไขมันไม่สูง ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ปกติตามข้อแนะนำ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โรคไตวาย และภาวะแทรกซ้อนเรื่องของตาบอด จากภาวะเส้นเลือดตีบตันได้

“การให้สุขภาพดีคงต้องกลับไปเรื่องของการออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อาหารต้องเหมาะสมลดหวานมันเค็ม เพราะหากหลอดเลือดเริ่มตีบไปแล้วการฟื้นกลับมาจะยาก เหมือนกับหลอดเลือดที่มีอายุมากขึ้น ผ่านการใช้งานมานาน เช่นเดียวกับคนเราที่อายุมากขึ้น แก่แล้วก็ไม่สามารถจะกลับมาได้ มีแต่แก่ต่อไปอย่างเดียว ดังนั้น จึงต้องทำอย่างไรถึงจะชะลอและยืดสิ่งเหล่านี้ออกไป ก็คือ ต้องดูแลอาหารการกินให้ดี ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เป็นต้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ภาวะหลอดเลือดตีบส่งผลให้เกิดโรคตามหลายอย่าง โดยขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เป็น โดยหากตีบที่เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ก็จะเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หากเกิดที่สมองก็จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือแขนขาอ่อนแรงได้ หากเกิดที่ไตก็เป็นไตวาย ที่ตาก็ตาบอดได้ ส่วนการรักษานั้นขึ้นกับอวัยวะ และเทคโนโลยีในการรักษาเช่นกัน อย่างหัวใจ แต่เดิมจะมีการผ่าตัดบายพาสข้ามหลอดเลือดที่ตีบ ส่วนปัจจุบันมีการทำบอลลูนหัวใจ โดยการใส่สายสวนถ่างขยายหลอดเลือดและมีเส้นลวดขึงไว้ไม่ให้กลับมาตีบใหม่ พร้อมมีการเคลือบยาเพื่อป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือด แต่ในส่วนอื่นอย่างสมองก็ยังไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ทางที่ดีที่สุดคือ การรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดี

ด้าน ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ต้นรางจืดมีด้วยกัน 3 ชนิด คือ รางจืดต้น รางจืดเถา และ ว่านรางจืด ซึ่งรางจืดที่นิยมใช้และมีบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ รางจืดเถา ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลพบว่ารางจืดทุกชนิดช่วยล้างความเข้มข้นของสารพิษในร่างกายลดลง และมีสารช่วยปกป้องสมองจากสารตะกั่วและปกป้องตับจากพิษของแอลกอฮอล์ได้ ส่วนการใช้รางจืดลดระดับน้ำตาลในเลือดนั้น เคยมีการทดลองในหนู พบว่า ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง แต่ไม่มีการระบุว่าต้องรับประทานรางจืดที่ความเข้มข้นมากน้อยขนาดไหนถึงจะได้ผล นอกจากนี้ รางจืดยังมีสรรพคุณลดความร้อนในร่างกาย หากกินเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายเกิดความเย็น ส่งผลให้มือเท้าชาและเลือดลมเดินไม่สะดวก แต่หากหยุดรับประทานร่างกายก็จะกลับมาเป็นปกติได้ แต่ในผู้ป่วยเบาหวานที่ปกติมักมีอาการชาอยู่แล้ว หากมาใช้รางจืดอีกก็จะเพิ่มความชาและทำให้ไม่รู้ว่าสาเหตุของอาการชาเกิดจากสาเหตุใด ดังนั้น หากจะเลือกใช้สมุนไพรช่วยลดน้ำตาลในเลือด ควรใช้สมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน เพราะจะได้รู้ว่าควรรับประทานขนาดมากน้อยเพียงใด รวมถึงรุู้กลไกการออกฤทธิ์ เพราะหากมีผลข้างเคียงจะได้รู้วิธีรักษา 

ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ส่วนกรณีระบุว่าให้รับประทานใบมะยมสดร่วมกับต้มรากเตย เพื่อช่วยฟื้นฟูตับอ่อนนั้น สรรพคุณของรากเตยคือลดระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนก้านมะยมเคยมีการศึกษาในหนูทดลองพบว่า ช่วยลดน้ำตาลในเลือด  คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มว่าจะทำให้การทำงานของไตในหนูดีขึ้นด้วย แต่กรณีที่ใช้ฟื้นฟูตับอ่อนยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด หากจะใช้ก็ควรมีการเฝ้าระวังติดตามผลด้วย เพื่อความปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น