จิตแพทย์ชี้ วัยรุ่นฆ่าตัวตาย ไม่เกิดจากเพื่อนแกล้งสาเหตุเดียว แนะผู้ปกครอง โรงเรียน ร่วมสังเกตเด็กเก็บตัว เหตุเป็นบุคลิกเด็กที่ถูกกระทำ ส่งเสริมการแสดงออก เพิ่มความมั่นใจในตนเอง
จากกรณีนักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนดังย่านลาดพร้าว ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายในบ้าน โดยพบจดหมายลาตาย ระบุสาเหตุมาจากการถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน
วันนี้ (8 ธ.ค.) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การกลั่นแกล้งกัน เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นลำดับต้นๆ มักเป็นข่าวบ่อยครั้งในประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวในประเทศไทย เพราะอัตราการฆ่าตัวตายในภาพรวมของประเทศไทย และเฉพาะในวัยรุ่นอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม จากข่าวดังกล่าวทำให้เกิดข้อคิดหลายประการที่อยากให้วัยรุ่น ผู้ปกครอง และโรงเรียนพิจารณา คือ 1. การกลั่นแกล้งกันในวัยรุ่น ถือเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญใน 2 กลุ่มเสี่ยง คือ วัยรุ่นที่ถูกกระทำ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งจากความรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตนเอง ขาดความมั่นใจในตนเอง และความรู้สึกทางลบต่างๆ เช่น ความรู้สึกอับอาย ไม่กล้าสู้หน้าคนอื่น เป็นต้น ส่วนวัยรุ่นผู้กระทำก็มีปัญหาสุขภาพจิตเช่นเดียวกัน โดยมักเป็นการชดเชยความรู้สึกด้อยคุณค่าในตนเอง ที่มาจากปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อมในครอบครัว การเรียน เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องให้ความสนใจในการดูแลช่วยเหลือทั้ง 2 กลุ่ม
“เด็กที่ถูกกระทำมักเป็นเด็กที่มีบุคลิกภาพเก็บตัว เรียบร้อย โดยธรรมชาติของสังคมไทยมักมองว่าเป็นเด็กดี และถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในทางตรงกันข้ามสังคมฝั่งตะวันตก บริบทของผู้คนมักแสดงออกกันตรงๆ ลักษณะการแสดงออกเช่นนี้ถือว่าเป็นปัญหา จึงควรยึดทางสายกลาง ซึ่งในกลุ่มเด็กที่มีบุคลิกภาพที่เก็บตัวควรได้รับการส่งเสริมและแสดงออกมากขึ้นหรือบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบกิจกรรมเสริมหลักสูตรแห่งการพัฒนาด้านดังกล่าว” นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียวอย่างที่เป็นข่าว การป้องกันจึงต้องเสริมสร้างคุณค่าและความมั่นใจในตนเอง เช่น รูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ต้องส่งเสริมพฤติกรรมด้านบวกของเด็ก ลดการลงโทษที่รุนแรงโดยใช้ได้อารมณ์ เป็นต้น ส่วนโรงเรียนต้องเน้นการใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการเรียนการสอนและต้องสร้างสัมพันธภาพกับเด็ก ที่สำคัญหากเห็นว่าเด็กค่อนข้างเก็บตัว ครูกับผู้ปกครองควรร่วมกันแก้ไขปัญหาก่อนจะเกิดเหตุการณ์ เช่น การสอนซ่อมเสริม ทำกิจกรรม จัดตารางเวลาที่บ้าน เป็นต้น
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เมื่อมีการจบชีวิตจากการทำร้ายตัวเองเกิดขึ้นแล้ว ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกจำนวนหลายคน เพราะฉะนั้น บุคลากรด้านสุขภาพจิตทั้งของระบบสาธารณสุข ระบบสวัสดิการ และระบบโรงเรียน ควรให้ความสนใจและหาทางออกร่วมกัน เช่น ครอบครัวของผู้เสียชีวิต เมื่อผ่านพ้นพิธีศพควรมีการประเมินสภาพจิตใจ เนื่องจากผู้ที่ไม่สามารถทำใจได้จะกลับกลายเป็นโรคซึมเศร้าในภายหลัง ส่วนเพื่อนๆ ในโรงเรียน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กลั่นแกล้งเด็ก ควรได้มีโอกาสพูดคุยได้แสดงความรู้สึกและได้หาทางออกในอนาคตต่อการแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ กลุ่มเพื่อนที่รู้จักกับผู้เสียชีวิตควรได้มีโอกาสแสดงความรู้สึกอาลัย และมองไปข้างหน้าในการเอาชนะอุปสรรคของชีวิต และกลุ่มนักเรียนทั่วไปที่ไม่รู้จักผู้เสียชีวิตเป็นการส่วนตัว ควรมีโอกาสเรียนรู้เรื่องดังกล่าวเพื่อเป็นบทเรียน