xs
xsm
sm
md
lg

น่าห่วง! ผลสำรวจชี้ เด็ก ม.ต้น เสี่ยงติดเหล้า บุหรี่ พนัน เซ็กซ์ ยา จี้ฝึกทักษะป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลวิจัยชี้ เด็ก ม.ต้น เผชิญปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ พนัน เซ็กซ์ ยา จี้ทุกฝ่ายเข้มทักษะชีวิต เปิดพื้นที่บวก ด้านอดีตเยาวชน เผย วงจรชีวิตเคยเสพยาวันละ 30 เม็ด ก่อเหตุอาชญากรรม สุขภาพทรุด หลุดพ้นมาได้เพราะครอบครัวคือหัวใจสำคัญ 

วันนี้ (18 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ แผนงานภาคีวิชาการสารเสพติด (ภวส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเปิดผลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา โดย ศ.ดร.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้จัดการแผนงานภาคีวิชาการสารเสพติด และคณะผู้วิจัย ได้เปิดเผยผลการสำรวจล่าสุดปี 59 ในกลุ่มนักเรียนมัธยมสายสามัญศึกษา 117 โรงเรียน และ สายอาชีวศึกษา 79 โรงเรียน รวม 38,535 ราย พบว่า 18.6% ยังนิยมดื่มสุรา ในจำนวนนี้ 9.2% ดื่มจนเมา เมื่อเปรียบเทียบกับปี 52 และ 50 พบว่า นักเรียนชายมีแนวโน้มการดื่มสุราลดลง ในขณะที่นักเรียนหญิงกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งการดื่มหนัก หรือดื่มแบบเมาหัวราน้ำมากขึ้นนอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมสูบบุหรี่ 9.4% เล่นการพนัน 12.3% ติดเกม 4.5% และนักเรียนชาย 17.1% นักเรียนหญิง 10.4% เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ที่น่าเป็นห่วงคือ เกือบครึ่ง หรือ 45.3% ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ทั้งนี้ ในส่วนการใช้สารเสพติดยังพบในกลุ่มนักเรียนชาย 7.7% และนักเรียนหญิง 3.2%

ศ.ดร.สาวิตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษา และเยาวชนในพื้นที่หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) พบว่า เด็กและเยาวชนที่ติดสารเสพติดส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน เนื่องจากออกกลางคัน เรียนไม่จบ มีปัญหาความรุนแรง ปัญหาครอบครัว ขาดความอบอุ่น เลี้ยงดูแบบตามใจ บางครอบครัวผู้ปกครองใช้สารเสพติดให้เด็กเห็น ทั้งดื่มสุรา สูบบุหรี่ ทำให้เห็นว่าการใช้สารเสพติดเป็นเรื่องปกติ จึงเกิดค่านิยมที่ผิด นอกจากนี้ ยังเข้าถึงได้ง่าย เกิดการกระตุ้นคล้อยตาม ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้สารเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้ง ติดยาบ้า กัญชา น้ำต้มใบกระท่อม (4x100) และสารระเหย ส่งผลกระทบตามมา คือ สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม ไม่สมบูรณ์แข็งแรง ขาดสติยั้งคิด เกิดปัญหาอาชญากรรม ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชน

ดร.วิไลลักษณ์ ลังกา นักวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การต่อสู้เอาชนะปัจจัยเสี่ยงรอบตัวเด็กได้ คือ ครอบครัวต้องดูแลเอาใจใส่ อบรมสั่งสอนให้รู้ในสิ่งที่ถูกและผิด พูดคุย รับฟังความคิดเห็น ส่วนโรงเรียน ควรจัดกิจกรรมที่เหมาะสมและหลากหลาย คัดกรองนักเรียนกลุ่มที่เรียนรู้ช้า เรียนไม่ทันเพื่อน และปัญหาอื่นๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ทันก่อนที่เด็กเหล่านี้จะหันไปพึ่งยาเสพติด ขณะที่ชุมชน ควรรวมกลุ่มกันสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ทั้งผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน กำหนดบทบาทหน้าที่ให้แต่ละฝ่าย ช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สอดส่องดูแลสมาชิกในชุมชน จัดกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสาธารณะ สร้างการเห็นคุณค่าในตนเองและเพิ่มพูนทักษะชีวิตเพื่อป้องกันการใช้สารเสพติด รวมกลุ่มทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ สร้างความเข้มแข็งในชุมชน       

“ที่สำคัญ ต้องเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เสริมแรงทางบวก ให้เขาประพฤติตัวดีหรือกลับตัวได้ ส่งเสริมให้เข้าร่วมเป็นแกนนำกลุ่มทำกิจกรรมเชิงสาธารณประโยชน์ในชุมชน และหน่วยงานภาครัฐทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ควรมีมาตรการและนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง จริงใจแก้ปัญหา ไม่ผลักภาระ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องช่วยกันสร้างสังคมให้น่าอยู่ ช่วยกันพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดีมีคุณภาพเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป” ดร.วิไลลักษณ์ กล่าว  

ขณะที่ นายสุชาติ แป้นประเสริฐ อายุ 35 ปี อดีตวัยรุ่นที่เคยเป็นทั้งผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติด พลิกตัวเองเป็นแกนนำชุมชนและนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า เริ่มเข้าสู่วงจรอบายมุขตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กระทั่งหันมาเป็นทั้งผู้ค้าผู้เสพยาเสพติด โดยทำร่วมกับน้องชายอีก 2 คน แบบครบวงจร เคยเสพมากสุดวันละ 30 เม็ด บางครั้งเสพแบบไม่หลับไม่นอนกว่า 10 วัน สมัยนั้นสภาพแวดล้อมในชุมชนเป็นแหล่งมั่วสุมอบายมุขทุกชนิด หาซื้อได้ง่ายและสะดวก แม้จะเคยถูกจับติดคุก แต่เมื่อพ้นโทษได้ 2 เดือน ก็กลับมาขายและเสพซ้ำ ช่วงนั้นทำทุกทาง ขโมยทรัพย์สินมีค่าในบ้านไปขายเพื่อหาเงินมาซื้อยา ก่อเหตุชกต่อยทะเลาะวิวาท ชิงทรัพย์ เคยมีเรื่องยิงคู่อริ เคยถูกปาระเบิดใส่บ้าน ส่วนเรื่องปัญหาสุขภาพก็ย่ำแย่ ไม่มีเรี่ยวแรง เคยหลับยาวไม่รู้สึกตัวไป 2 วัน และกลายเป็นคนอารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย

“คนในชุมชนจะรู้จักชื่อเสียงผมดี พ่อผมเป็นประธานชุมชน แต่ต้องถูกชาวบ้านล้อว่าลูกติดยา จนทำให้อับอาย  ด้วยความรักลูก พ่อจึงพยายามทำทุกทางและผันตัวเองมาทำงานด้านรณรงค์ป้องกันยาเสพติดเพื่อให้ลูกทั้ง 3 คน เลิกเสพยา จนผมและน้องอีก 2 คน เกิดการซึมซับ เมื่อเห็นความลำบากของพ่อ เห็นน้ำตาแม่ทุกวัน  อีกทั้งได้ไปช่วยงานที่กองทัพภาคที่ 2 จ.นครราชสีมา เห็นถึงผลร้ายจากยาเสพติด จนสามารถหลุดพ้นจากทาสยาเสพติดมาได้แล้ว 13 ปี โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ เช่น องค์กรงดเหล้า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เข้ามาให้การช่วยเหลือสนับสนุนสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขอฝากถึงเยาวชนว่าอย่าไปลอง เพราะผลเสียจะตามมามากมาย ที่สำคัญ ถ้าเข้าไปในวงจรนี้แล้วยากมากที่จะฟื้นคืนได้ด้วยตัวเอง และขอฝากถึงระบบการศึกษาว่าต้องทำให้ตรงจุด ไม่ฉาบฉวย ควรเสริมทักษะชีวิตให้เด็กเยาวชน ขณะเดียวกัน สังคมต้องไม่ซ้ำเติม ไม่ตีตราคนที่ก้าวพลาด แต่ควรให้โอกาส ซึ่งผมก็เป็นอีกคนที่โชคดี เพราะสังคมให้โอกาสสามารถผันตัวเองมาทำงานเป็นจิตอาสาตอบแทนสังคม ทุกวันนี้เดินไปไหนมาไหนได้สบายไม่อายใคร หลายครั้งที่ได้นำเอาประสบการณ์ที่ก้าวผิดของเราไปถ่ายทอดให้เด็กและเยาวชนฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์” นายสุชาติ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น