รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำ “หญ้าดอกขาว” ทำเป็นยาอมสมุนไพรลดความอยากอาหาร ชี้ มีสารไนเตรทช่วยลิ้นมีความรู้สึกชา กินแล้วไม่อร่อย ทำให้กินน้อย เป็นทางเลือกคนอยากลดน้ำหนัก ชี้ มีปัญหาโลหิตจาง ขาดสารอาหารบางอย่างไม่ควรรับประทาน ยันไม่มีสารตกค้างในร่างกาย
วันนี้ (5 ธ.ค.) ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยหญ้าดอกขาว พบว่า มีสรรพคุณช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ลงได้ เนื่องจากในหญ้าดอกขาวจะมีสารไนเตรท ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ประสาทรับรู้รสบริเวณลิ้นมีความรู้สึกชา ทำให้ผู้ที่บริโภคหญ้าดอกขาวเข้าไปจะไม่รับรู้รสชาติใดๆ ส่งผลให้ไม่มีความอยากจะสูบบุหรี่ ดังนั้น จึงมีการนำหญ้าดอกขาวมาต่อยอดทำเป็นยาอมสมุนไพรลดความอยากอาหาร โดยนำมาปั้นเป็นลูกกลอน โดยสามารถใช้ทุกส่วนที่อยู่เหนือดินของหญ้าดอกขาวมาใช้ได้ทั้งหมด ทั้งลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ยอด และดอก โดยสารไนเตรทของยาอมลดความอยากอาหารจะไปเคลือบบริเวณต่อมรับรสบนลิ้น ทำให้รับประทานอะไรก็ไม่รู้รสชาติ หรือไม่อร่อย ทำให้รับประทานอาหารได้น้อย ไม่อยากอาหาร ดังนั้น ผู้ที่ต้องการอยากลดน้ำหนักก็สามารถใช้ยาอมลดความอยากอาหารเป็นทางเลือกได้
“ยาอมลดความอยากอาหารดังกล่าว จัดว่าเป็นยาควบคุม ดังนั้น การขายจะต้องขายโดยเภสัชกรเท่านั้น เพื่ออธิบายถึงวิธีในการใช้ และให้คำแนะนำก่อนรับประทาน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะใช้ยาอมดังกล่าวเพื่อลดความอ้วน ยังคงต้องรับประทานอาหารตามปกติควบคู่กับการออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดปริมาณอาหารที่มีไขมันสูง โดยช่วงไหนที่อยากรับประทานน้อยก็ให้อมยาอมลดความอยากอาหาร โดยปริมาณในการอม คือ ประมาณ 2 - 3 เม็ดต่อครั้ง แล้วแต่น้ำหนักตัวของผู้รับประทานด้วย หากน้ำหนักตัวมากก็ให้รับประทานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังรับประทานในรูปของชาชงได้ด้วย” ภญ.ผกากรอง กล่าว
ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า สำหรับผลข้างเคียงของยาอมลดความอยากอาหารนั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการตกค้างในร่างกาย เพราะสารนี้จะถูกชะล้างออกจากลิ้นได้เพียงเรากลืนน้ำลายหรือดื่มน้ำ และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังยืนยันชัดเจนอีกว่าการที่น้ำชะล้างสารไนเตรทลงไปในร่างกายนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยฤทธิ์ของสารไนเตรทที่อยู่ในหญ้าดอกขาวจะอยู่ติดลิ้นได้ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมงเท่านั้น ก็จะจางไป ส่วนกลุ่มที่ไม่แนะนำให้รับประทานยาอมไม่อยากข้าว ได้แก่ กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องโลหิตจาง และกลุ่มคนที่ขาดสารอาหารบางอย่าง