กาญจนบุรี - ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และที่ปรึกษา ผบ.พล.1 รอ. ลงพื้นที่กาญจนบุรีแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง โดยมี อปท.14 แห่ง ร่วมลงนาม MOU
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (25 ม.ค.) ที่ห้องศูนย์การเรียนชุมชนเฉลิมพระเกียรติ สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน อบต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี พล.ต.รังษี กิติญาณทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และที่ปรึกษา ผบ.พล.1 รอ.ได้ประชุมติดตามโครงการความร่วมมือการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชน โดยมี นายสมชาย ฟักทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 14 แห่ง ที่นำขยะมาทิ้งในพื้นที่ อบต.แก่งเสี้ยน ร่วมลงนาม MOU
พล.ต.รังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษากองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เปิดเผยภายหลังว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ของราชพัสดุ ซึ่งให้กองทัพบก โดยกองพลที่ 1 รักษาพระองค์เ ป็นผู้ดูแล และกองพันทหารม้าที่ 4 (ม.พัน 4 รอ.)รั บผิดชอบพื้นที่ แต่มีปัญหาเกิดขึ้นคือ ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดกาญจนบุรีไม่มีที่ทิ้งขยะเป็นของตนเอง เมื่อมีการนำขยะมาทิ้งในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งมันเป็นการผิดกฎระเบียบ และกฎข้อบังคับของกรมธนารักษ์ ตนในฐานะผู้ดูแลพื้นที่จึงเข้ามารับผิดชอบเพื่อทำให้มันเดินต่อไปได้ แต่ขอเน้นย้ำว่าพื้นที่แห่งนี้จะไม่ใช่บ่อขยะแบบถาวร แต่เป็นเพียงแค่บ่อขยะชั่วคราว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาระหว่างกองทัพบก กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปัญหาเรื่องที่ทิ้งขยะ
“ในอนาคตหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบ่อขยะเป็นของตนเองจะต้องย้ายที่ทิ้งขยะไปที่แห่งนั้น ซึ่งจะเน้นย้ำเฉพาะเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แต่จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเรื่องที่ทิ้งขยะให้แก่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการชั่วคราว นี่คือที่มาที่ไปของการเข้ามาแก้ปัญหาในครั้งนี้ และหากในอนาคตมีการคืนพื้นที่ให้แก่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เราก็จะมีแผนในการปลูกป่าขึ้น แต่หากยังไม่สามารถหาพื้นที่ทิ้งขยะแห่งใหม่ได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถนำขยะมาทิ้งในพื้นที่แห่งนี้ได้ และจะต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่ให้ถูกสุขลักษณะ โดยจะต้องมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่ด้วย” พล.ต.รังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษากองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กล่าว แลกล่าวต่อว่า
ขณะนี้เรามีแผนดำเนินการอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ขยะมูลฝอยจะคัดแยกออกมาเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียงที่เดินทางมารับเองได้ โดยจะให้องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลที่เข้ามาร่วมเซ็น MOU พิจารณาร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยน เป็นผู้พิจารณาว่าจะมอบปุ๋ยหมักให้แก่ใครบ้าง แต่จะต้องพิจารณามอบให้ด้วยความเป็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่จะเน้นให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
2.ขยะมูลฝอยที่กำจัดไม่ได้เพราะไม่ย่อยสลาย เช่น พลาสติก จะต้องมีการขนย้ายไปกำจัดนอกพื้นที่แต่จะต้องกำจัดให้ถูกสุขลักษณะด้วยเช่นกัน และ 3.ขยะที่เป็นพิษซึ่งเป็นปัญหาแต่ก็ยังโชคดีที่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับขยะที่เป็นพิษ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการวางแผน และดำเนินการประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดขยะเป็นพิษที่ถูต้องตามหลักวิชาการ
นายสมชาย ฟักทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยน กล่าวว่า วันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่นำขยะมาทิ้งในพื้นที่ อบต.แก่งเสี้ยน ได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลง MOU 14 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาล 5 แห่ง ประกอบด้วย 1.เทศบาลตำบลลูกแก อ.ท่ามะกา 2.เทศบาลเมืองกาญจนบุรี 3.เทศบาลตำบลหนองหญ้าดอกขาว ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง 4.เทศบาลตำบลปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี และ 5.เทศบาลตำบลท่ามะขาม อ.เมืองกาญจนบุรี
สำหรับ อบต.มีทั้งหมด 7 แห่ง ประกอบด้วย 1.อบต.แก่งเสี้ยน 2.อบต.ลาดหญ้า 3.อบต.วังด้ง 4.อบต.ช่องสะเดา 5.อบต.เกาะสำโรง 6.อบต.บ้านเก่า และ 7.อบต.หนองหญ้า
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกองพันทหารม้าที่ 4 (ม.พัน 4 รอ.) ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย บริเวณเขาทอง หมู่ 5 ต.แก่งเสี้ยน ให้หมดจากพื้นที่ในความรับผิดชอบของกองพันทหารม้าที่ 4 (ม.พัน 4 รอ.) ซึ่งได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยน เป็นตัวแทนของท้องถิ่นในการจัดทำแผนจัดการบริหารขยะมูลฝอยในพื้นที่ประมาณ 53 ไร่ จึงจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการขยะมูลฝอยออกเป็น 3 ระยะ
โดยระยะที่ 1 สำรวจพื้นที่ และแนวเขตรับผิดชอบ การปรับปรุงพื้นที่ และการกำจัดขยะเก่า การก่อสร้างถนนและระบบนำ รวมทั้งการติดตั้งไฟฟ้า
ระยะที่ 2 การก่อสร้างศาลารับรอง การก่อสร้างป้อมยามรักษาความสงบ การติดตั้งเครื่องชั่ง ก่อสร้างโรงคัดแยกขยะมูลฝอย และการก่อสร้างโรงปุ๋ย
ส่วนระยะที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยน จะดำเนินการจัดทำแปลงสาธิต และเชิญชวนให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกป่าในพื้นที่บริเวณดังกล่าว เพื่อเป็นให้เป็นชุมชนต้นแบบในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย รวมทั้งเป็นต้นแบบในการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนต่อไป