“พรหมพิราม” จัดกิจกรรมท้าดื่มน้ำสาบานเลิก “บุหรี่” ทั้งหมู่บ้าน เผย มีผู้เข้าร่วมเลิกบุหรี่แบบสมัครใจแล้วกว่า 122 คน ด้าน สสส. เผย 9 เทคนิคช่วยหมออนามัย อสม. ชวนคนเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านวังมะด่าน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีกิจกรรม “ท้าชวนดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่แบบหักดิบทั้งหมู่บ้าน” ภาคใต้โครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไป เทิดไท้องค์ราชัน” โดย นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ เป็นความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมหมออนามัย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย มาร่วมทำความดี ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการชักชวน เชิญชวน ท้าชวนให้เลิกสูบบุหรี่ พร้อมลงชื่อสมัครใจเลิกบุหรี่ โดยใช้กลไก เครือข่ายหมออนามัย และ อสม. ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ มิ.ย. 2559 ปัจจุบันมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2 แสนคน และสามารถเลิกบุหรี่ต่อเนื่อง 6 เดือน ได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน
นพ.บัณฑิต กล่าวว่า การดำเนินงานชักชวนคนเลิกสูบบุหรี่ให้ประสบความสำเร็จ คณะทำงานวิชาการโครงการ 3 ล้านฯ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ 9 ข้อ ให้แก่ เครือข่ายหมออนามัย และ อสม. เป็นแนวทางการทำงาน ดังนี้ 1. ค้นหา สำรวจ และจำแนกเป้าหมายคนที่จะชวนให้เลิกสูบ โดยเลือกคนที่มีแนวโน้มเลิกได้ง่าย เช่น ผู้สูบที่มีเด็กเล็กในบ้าน เริ่มเจ็บป่วย มีญาติเจ็บป่วยจากการสูบ หรือผู้สูบที่มีอายุมากกว่า 50 ปี 2. หาแรงจูงใจเพื่อชวนให้ตัดสินใจเลิกสูบเด็ดขาด เช่น รักลูก ไม่อยากเจ็บป่วย เป็นต้น 3. ให้ข้อมูลด้านลบของการสูบบุหรี่ โดยตอกย้ำผลที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพและคำนวณให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปจากบุหรี่มากเพียงใด 4. แนะนำให้ปฏิบัติเทคนิคการเลิกสูบที่ง่ายและได้ผล เช่น ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่ซื้อไม่ขอบุหรี่ ทิ้งอุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ เป็นต้น
นพ.บัณฑิต กล่าวว่า 5. แนะนำอุปกรณ์ที่ช่วยให้เลิกสูบได้ง่ายขึ้น เช่น ดื่มน้ำ ดื่มชาหญ้าดอกขาว ใช้น้ำยาบ้วนปากหรือสมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ เคี้ยวผลไม้เปรี้ยวๆ เป็นต้น 6. ติดตามเยี่ยมเยียนให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้เลิกสูบได้อย่างต่อเนื่อง 7. ทำกิจกรรมสนับสนุนการเลิกสูบ เช่น เชิญคนที่เลิกสูบสำเร็จมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จัดกิจกรรมพบปะพูดคุยให้กำลังใจ เป็นต้น 8. แนะนำบริการช่วยเลิกบุหรี่แก่คนที่ติดบุหรี่หนัก หรือคนที่กลับไปสูบซ้ำที่คลินิกฟ้าใส หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 และ 9. จัดกิจกรรมชื่นชมเชิดชูคนที่เลิกบุหรี่สำเร็จ หรือคนที่ชวนคนเลิกบุหรี่สำเร็จ
นายมงคล เงินแจ้ง ผอ.รพ.สต.บ้านวังมะด่าน กล่าวว่า ตนเป็นคนแรกที่เข้าร่วมโครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ เพราะถูกกดดัน เหน็บแนมจากคนรอบข้าง ที่สำคัญคือ ตนทำงานส่งเสริมให้คนเลิกเหล้าบุหรี่ แต่ตนเองยังเลิกไม่ได้ ทำให้คนไม่เชื่อถือและไม่ร่วมมือ ในการประชุมเตรียมงานโครงการฯ จึงประกาศตนขอเลิกเป็นคนแรก และตัดสินใจหักดิบเลิกทันที เมื่อเลิกได้ทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือในการชักชวนให้คนเลิกสูบ ทั้งนี้ อ.พรหมพิรามมีผู้สมัครใจเลิกบุหรี่ 122 คน กลยุทธ์สำคัญของการเลิกบุหรี่ คือ การหักดิบ เพราะหากมีจิตใจที่เข้มแข็งก็จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ประสบผลสำเร็จและเลิกได้เร็วกว่าการค่อยๆ เลิกโดยการลดปริมาณการสูบ สำหรับกรณีบางรายที่ไม่สามารถใช้วิธีหักดิบได้ จะมีคลินิกเลิกบุหรี่ช่วยให้คำปรึกษา
“กิจกรรมเด่นที่ใช้ขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ เช่น การท้าชวนดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน โดย 1 คนท้าชวน 1 คนที่สูบให้เลิกสูบ เมื่อคนนั้นเลิกสูบแล้ว ก็ให้ท้าชวนอีก 1 คนเลิกสูบ ต่อเนื่องไป การจัดรายการวิทยุออนไลน์ให้ความรู้/แลกเปลี่ยนกับผู้มีประสบการณ์การเลิกบุหรี่ การจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติ คนชวนคนเลิกสูบบุหรี่ คนเลิกสูบบุหรี่ต้นแบบในระดับจังหวัด และจัดระบบการป้องกัน การให้กำลังใจ และการป้องกันการกลับไปสูบซ้ำ และการจัดเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลิกสูบบุหรี่และรายงานผลอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ LRM (Line report management) ซึ่งจะมีการประเมินผลหากสามารถเลิกบุหรี่ได้เกิน 6 เดือน ถือว่าเลิกได้สำเร็จ” นายมงคล กล่าว