สบส. เตือนเปิดแอร์ปิดกระจกรถยนต์งีบหลับ เสี่ยงตายสูง เหตุก๊าซพิษ “คาร์บอนมอนอกไซด์” จากท่อไอเสียรถยนต์ไหลเข้าไปทางระบบแอร์ ทำให้ขาดอากาศหายใจ แนะปิดแอร์ ดับเครื่องยนต์ ลดกระจกลง 2 - 3 เซนติเมตร หรือกดปุ่มพัดลมให้อากาศไหลเวียนถ่ายเทเข้า - ออก ในตัวรถ
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยพบปัญหาประชาชนเสียชีวิตขณะนอนหลับในรถยนต์ที่ติดเครื่องยนต์และเปิดแอร์ได้ทุกปี ปีละประมาณ 1 - 2 ราย เมื่อเร็วๆ นี้ พบ 3 รายเสียชีวิตขณะนอนหลับในรถคันเดียวกัน การจอดรถติดเครื่องยนต์เปิดแอร์นอนในรถ และปิดกระจกมิดชิดเป็นเรื่องที่มีอันตรายมาก เพราะเท่ากับเป็นการนอนดมก๊าซพิษในรถ โดยก๊าซพิษที่ทำให้เสียชีวิต ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น อยู่ในไอเสียของรถยนต์ที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมัน ก๊าซสามารถไหลเวียนเข้ามาภายในตัวรถได้ทางระบบแอร์รถยนต์ ซึ่งจะมีการดูดอากาศจากภายนอกและดูดเอาควันจากท่อไอเสียรถยนต์เข้ามาหมุนเวียนภายในรถด้วย ผู้ที่นอนภายในรถจึงสูดก๊าซพิษชนิดนี้เข้าไปสะสมในร่างกายโดยไม่รู้ตัว
เมื่อก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปรวมตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงดีกว่าก๊าซออกซิเจนถึง 200 - 250 เท่าตัว ส่งผลให้ความสามารถของเม็ดเลือดแดงในการนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายและสมองลดลงเรื่อยๆ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ผู้ที่สูดดมจะมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อาเจียน รายที่รุนแรงอาจไม่รู้สึกตัว ระบบหายใจล้มเหลวและถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งกรม สบส. จะเร่งเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนทุกหมู่บ้าน ผ่านทางอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. เพื่อป้องกันการเสียชีวิตดังที่กล่าวมา
นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ พบได้ในไอเสียรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินมากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ปล่อยออกมามากที่สุดขณะรถติดเครื่องยนต์และจอดนิ่งๆ ในการป้องกันปัญหาการเสียชีวิตดังกล่าว ขอแนะนำให้ประชาชนเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทางในกรณีที่ต้องขับรถในระยะทางไกล โดยพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง และระหว่างเดินทางควรแวะพักปรับเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการง่วงนอน หากรู้สึกง่วงมากและจะต้องนอนพักในรถยนต์ สามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรกคือ เมื่อจอดรถยนต์สนิทแล้ว ควรดับเครื่องยนต์ ลดกระจกลงประมาณ 2 - 3 ซม. เพื่อเปิดระบายให้อากาศจากภายนอก ซึ่งมีออกซิเจนประมาณร้อยละ 20 เข้ามาหมุนเวียนถ่ายเทภายในรถ ห้ามเปิดแอร์และห้ามปิดกระจกโดยเด็ดขาด
และวิธีที่ 2 เปิดพัดลมแอร์ โดยบิดกุญแจไปที่จังหวะออน เพื่อให้ระบบไฟฟ้าในรถทำงาน แล้วจึงบิดเปิดสวิตช์แอร์ เมื่อเปิดแล้วให้เลือกปุ่มที่เขียนว่า A/C หรือปุ่มที่มีรูปรถและมีลูกศรชี้เข้ามาในตัวรถจากภายนอก เมื่อเลือกกดปุ่มดังกล่าว พัดลมแอร์จะดูดอากาศมาหมุนเวียนในห้องโดยสารได้เช่นกัน ควรนอนพักประมาณ 30 - 40 นาที ให้คลายความอ่อนเพลีย เมื่อพร้อมแล้วจึงออกเดินทางต่อ