xs
xsm
sm
md
lg

คนไทย 62% ยังเชื่อผิดๆ ช่วยคนจมน้ำด้วยวิธีอุ้มพาดบ่า ชี้อันตราย เสี่ยงตายสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส.เผยคนไทยร้อยละ 62 ยังเชื่อช่วยคนจมน้ำด้วยวิธีอุ้มพาดบ่าถูกต้อง ชี้เป็นความเชื่อที่ผิดและอันตราย เพิ่มความล่าช้าช่วยคนจมน้ำขาดอากาศหายใจนานขึ้น เสี่ยงเสียชีวิตสูง พบภาคเหนือเชื่อผิดสูงสุดร้อยละ 74

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เทศกาลลอยกระทงปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 มีความเป็นห่วงอุบัติเหตุจมน้ำที่พบได้เกือบทุกปี สาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น เมาสุรา รวมทั้งการลงไปเก็บเงินที่อยู่ในกระทง มักจะเป็นเด็กๆ กรม สบส.ได้ดำเนินการสำรวจความเชื่อของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 ภาค ในด้านการช่วยเหลือคนจมน้ำ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 จำนวน 501 ตัวอย่าง ผลพบว่าส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิด โดยเชื่อว่าช่วยโดยการจับอุ้มพาดบ่าแล้วกระทุ้งท้อง มากถึงร้อยละ 62 ภาคที่มีความเชื่อวิธีการนี้ อันดับ 1 ได้แก่ ภาคเหนือ ร้อยละ 74 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 71 ภาคกลางร้อยละ 61 ภาคใต้ร้อยละ 54 ส่วน กทม.และปริมณฑล ร้อยละ 50 ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความเชื่อที่ถูกต้องเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น ซึ่งดีขึ้นกว่าผลการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เมื่อปี 2556 ที่พบว่าประชาชนเข้าใจถูกต้องเพียงร้อยละ 7.4

นพ.วิศิษฏ์กล่าวว่า การช่วยคนจมน้ำหลังจากที่นำขึ้นมาจากน้ำ โดยการจับอุ้มพาดบ่าและกระทุ้งท้องเพื่อเอาน้ำออกจากปอดนั้นเป็นวิธีการต้องห้าม และเป็นอันตรายต่อผู้ที่จมน้ำ เพราะน้ำที่ออกมาเป็นน้ำจากกระเพาะอาหารไม่ใช่ออกมาจากปอด ผลที่ตามมาจะทำให้คนจมน้ำขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น สมองขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยให้กองสุขศึกษาร่วมมือกับสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค  เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.เผยแพร่ความรู้วิธีการช่วยชีวิตคนจมน้ำที่ถูกต้องแก่ประชาชนทุกหมู่บ้าน เพื่อลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือคนจมน้ำที่ถูกต้องเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล คือให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ พร้อมทั้งช่วยคนที่จมน้ำโดยให้วางนอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปาก ช่วยให้หายใจให้เร็วที่สุดโดยวิธีการผายปอดและเป่าลมเข้าทางปากติดต่อกันหลายครั้ง ถ้าหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจ โดยการกดที่บริเวณกลางหน้าอกให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอกความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที และรีบโทร.แจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 โดยเร็วที่สุด

สำหรับหน่วยงานที่จัดเตรียมสถานที่ให้ประชาชนลอยกระทงในปีนี้ ควรกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน และต้องทำสิ่งกั้นขวาง เพื่อป้องกันการตกน้ำ จัดให้มีผู้ดูแลและเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำให้พร้อมเช่นห่วงชูชีพ ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ยางในรถยนต์ที่เติมลมไว้พร้อม เขียนป้ายบอกวิธีการใช้ให้ถูกต้อง หากเกิดเหตุการณ์ สามารถหยิบมาใช้ได้ง่าย ส่วนผู้ที่ให้บริการทางเรือ ควรจัดเสื้อชูชีพให้พร้อม และคำนึงถึงการบรรทุกผู้โดยสารไม่ให้น้ำหนักเกิน ในกรณีพบคนตกน้ำต้องรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ห้ามกระโดดลงไปช่วยอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน การช่วยเหลือที่ถูกวิธีขอให้ยึดหลัก ตะโกน โยน ยื่น โดยเรียกให้ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นมาช่วยหรือหาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวมาช่วยเหลือเช่น ไม้ ถังแกลลอนเปล่า เชือกหรือสิ่งที่เกาะยึดเหนี่ยวได้ ในส่วนของผู้ปกครองที่นำบุตรหลานไปลอยกระทงด้วย ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปีต้องอยู่ในระยะที่คว้าถึง อย่าปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพัง ไม่ว่าจะเป็นในกะละมังหรือถังน้ำที่บ้านก็ตาม อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น