xs
xsm
sm
md
lg

ไทยกำหนด “วันเพร็พโลก” คู่วันเอดส์โลก ส่งเสริมใช้ “ยาเพร็พ” ป้องกันเอชไอวี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยกำหนดวันที่ 1 ธ.ค. เป็น “วันเพร็พโลก” คู่วันเอดส์โลก หวังรณรงค์ใช้ยาเพร็พป้องกันติดเชื้อเอชไอวี ชงบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ เหตุคุ้มค่ากว่าให้ยาต้านไวรัสภายหลัง เผยในต่างประเทศให้ยาต้านไวรัสอย่างเดียวไม่ลดอุบัติการณ์ ย้ำ ถุงยางอนามัยยังต้องใช้ควบคู่

วันนี้ (29 พ.ย.) ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สภากาชาดไทยร่วมกับเครือข่ายออนไลน์รณรงค์สุขภาพชายรักชาย หรือ อดัมส์เลิฟ จัดงานรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธ.ค.ของทุกปี พร้อมเปิดตัว “วันเพร็พโลก” (World PrEP Day) เป็นประเทศแรกของโลก เพื่อส่งเสริมให้รับประทานยาเพร็พ (PrEP: Pre-Exposure Phophylaxis) เป็นวิธีการป้องกันโรคเอดส์ก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวี โดยพบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึงร้อยละ 92 โดยต้องรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีปริมาณยามากพอที่จะกำจัดเชื้อเอชไอวี โดยจะเน้นในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เนื่องจากพบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ปีละไม่เกิน 8,000 ราย เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ถึงร้อยละ 50 คู่สามีภรรยา ร้อยละ 20 - 30 ผู้ใช้สารเพสติดชนิดฉีดร้อยละ 10 และผู้ให้บริการทางเพศร้อยละ 10

“องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ยาเพร็พในกลุ่มที่มีอุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวีสูงเกินร้อยละ 3 แต่ประเทศไทยยังไม่ได้บรรจุยาดังกล่าวในชุดสิทธิประโยชน์ด้านการป้องกัน รักษาโรคของประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าในการบรรจุยาดังกล่าวเข้าเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าการให้ยาเพร็พเพื่อป้องกันการติดเชื้อมีความคุ้มค่ากว่าการให้ยาต้านไวรัสเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว ยกตัวอย่าง การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 7 คน ใน 100 คน จำนวนนี้จะสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีกอย่างน้อย 14 คน รวมเป็น 21 คน ดังนั้น หากให้ยาเพร็พในคนเสี่ยง 7 คน จะมีค่าใช้จ่ายคนละ 500 บาทต่อเดือน รวมแล้วปีละประมาณ 6 แสนบาท แต่ถ้าปล่อยให้เกิดการติดเชื้อถึง 21 คน ต้องให้ยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต ค่าใช้จ่ายอย่างน้อยคนละ 1,000 ต่อเดือน จึงคิดว่าการให้ยาเพร็พในกลุ่มเสี่ยงมีความคุ้มค่าในการบรรจุให้เป็นอีก 1 วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าว

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าทีมป้องกันการติดเชื้อ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีข้อมูลในบางประเทศที่มีผู้เข้าถึงการตรวจเอชไอวีและรับยาต้านไวรัสเร็วถึงร้อยละ 90 แต่อุบัติการณ์การติดเชื้อไม่ได้ลดลง เนื่องจากยังมีอีกร้อยละ 10 ที่ยังเป็นเชื้อเพลิดเพลิน สามารถส่งต่อได้ ดังนั้น จึงคิดว่าการให้ยาเพร็พในกลุ่มเสี่ยงน่าจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ได้ ซึ่งยาเพร็บสามารถรับประทานกับอะไรก็ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องยาตีกัน สิ่งสำคัญคือการรับประทานอย่างสม่ำเสมอ มีวินัย อย่างไรก็ตาม แม้จะพบว่ามีผลทำให้ไตทำงานหนักและกระดูกพรุน แต่จากการศึกษาพบว่าเมื่อหยุดรับประทานยาทุกอย่างก็จะกลับมาทำงานเป็นปกติ ที่สำคัญคือ แม้ว่ายาเพร็บจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูง แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยเพื่อให้มั่นใจ และป้องกันการติดโรคจากเพศสัมพันธ์ประเภทอื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม เราไม่อยากเห็นว่าสามารถควบคุมการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ดี แต่อุบัติการณ์การเกิดโรคทางเพศสัมพันธ์อย่างอื่นเพิ่มขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น