xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยตายจากการขับขี่ปีละ 2,000 ราย เดินหน้าก่อน 15 ปี ห้ามขี่มอเตอร์ไซค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำรวจพบเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์เป็นถึง 58% เริ่มหัดขับอายุน้อยสุด 7 ขวบ สอนโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง ขณะที่สถิติตายจากอุบัติเหตุทางถนนพุ่งปีละ 2,000 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้น 28% เดินหน้าอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ขับขี่ ช่วยลดอัตราตายได้ถึง 65% นำร่องก่อน 80 โรงเรียนใน 25 จังหวัด แนะออกมาตรการป้องกันเด็กเข้าถึง จยย. ส่งเสริมรถรับส่งปลอดภัย การเดินเท้าระยะใกล้ ด้าน สพฐ. เล็งออกคำสั่งให้ทุกโรงเรียนดำเนินการ

วันนี้ (29 พ.ย.) ที่อาคารเรียนรู้สุขภาวะ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กลาวในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “เด็ก Don't Drive : ก่อน 15 ปี เลิกขับขี่ เลิกเจ็บ เลิกตาย” จัดโดยศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนอายุ 15 - 17 ปี ขับขี่เครื่องยนต์ไม่เกิน 110 ซีซี มานานกว่า 40 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยกลับปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน ผู้นำท้องถิ่น ตำรวจ หรือแม้แต่นักวิชาการ ทั้งนี้ จากการสำรวจเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จาก 9 จังหวัด จำนวน 2,822 คน เฉลี่ยอายุ 12 ปี พบว่า 58% ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นแล้ว โดยเฉพาะเด็กผู้ชายขับขี่ได้มากกว่าเด็กหญิง และยังพบเด็กอายุน้อยที่สุดที่เริ่มหัดขับ คือ 7 ปี อายุที่เริ่มหัดขับมากที่สุด คือ อายุ 10 - 11 ปี ถึง 64% สอนโดยพ่อ แม่ ผู้ปกครอง

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของกลุ่มเด็กอายุ 10 - 14 ปี ซึ่งจากการสำรวจสถิติการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากอุบัติเหตุทางถนน ในเวลา 16 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2543 - 2558 พบว่า มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เป็นการตายจากการเป็นผู้ขับขี่สูงสุด คือ 46% รองลงมา คือ เป็นผู้โดยสาร 34% พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ จักรยานยนต์ 76% โดยปี 2558 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 943 คน เป็นกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี 575 คน คิดเป็น 61% ทั้งนี้ สาเหตุที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และวัยรุ่นไม่ควรขับจักรยานยนต์ เพราะ 1. เป็นนักขับมือใหม่ ขาดประสบการณ์ 2. วุฒิภาวะ พัฒนาการด้านการประสานงานของกล้ามเนื้อ การมองเห็น การแยกแยะภาพเคลื่อนไหว เพื่อตอบสนองทันที และการตัดสินใจภาวะฉุกเฉินยังไม่สมบูรณ์ก่อนอายุ 18 - 25 ปี โดยพบว่ามือใหม่หัดขับในวัยรุ่นที่มีอายุมากกว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่า 3. วัยรุ่นชอบมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย จากแรงขับของฮอร์โมน 4. มักมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แลการใช้ยาก่อนขัยขี่ และ 5. ไม่นิยมใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย

“หากห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีขับขี่รถจักรยานยนต์ จะสามารถลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กอายุ 1 - 14 ปี ลงได้ 40% และ ลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กอายุ 10 - 14 ปี ลงได้ถึง 65% และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามกฎจราจร จึงเกิดโครงการเด็ก don’t drive ก่อน 15 ปี เลิกขี่ เลิกเจ็บ เลิกตาย นำร่องใน 80 โรงเรียน รวม 25 จังหวัด โดยชักชวนเด็กไม่เกิน ม.3 รวมตัวกัน 4 - 5 คน และครูที่ปรึกษา มาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยในโรงเรียน โดยมีการสำรวจข้อมูลผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์อายุต่ำกว่า 15 ปี ทำการรณรงค์เพื่อสื่อสารกับเพื่อนๆ การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและพัฒนากฎระเบียบในโรงเรียน สิ่งที่สำคัญคือ เด็กได้แสดงความตั้งในเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองและหมู่คณะของตัวเอง ซึ่งแนวทางการทำงานที่ประสบผลสำเร็จจะนำไปขยายผลในโรงเรียนที่อยู่รอบข้างต่อไป” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า เด็กไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรประมาณ 2,000 รายต่อปี บาดเจ็บสาหัสประมาณ 20,000 รายต่อปี พิการ 9,000 รายต่อปี คิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ซึ่งเป็นที่น่าห่วงว่าเด็กไทยรอดจากโรคการติดเชื้อ แต่กลับต้องมาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรแทน ที่สำคัญ 65% ไม่มีใบขับขี่ และยิ่งอายุน้อยอัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะยิ่งรุนแรงกว่า ทั้งนี้ การรณรงค์ช่วยกันลดพฤติกรรมการขับขี่มอเตอร์ไซค์ของเด็กต่ำกว่า 15 ปี สามารถทำได้จริง เพียงแต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันลงมือทำอย่างจริงจัง โดยจะต้องมีการออกมาตรการป้องกันการเข้าถึงรถจักรยานยนต์ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จัดระบบรถรับส่งนักเรียนที่มีประสิทธิภาพครอบคลุม ส่งเสริมการเดินเท้าระยะใกล้ ปรับปรุงพัฒนาทางเดินให้สะอาดปลอดภัย เป็นต้น

นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ถือเป็นกฎหมาย แต่ที่ผ่านมา สพฐ. ไม่เคยมีการสั่งการในเรื่องนี้ แต่ขณะนี้สถานการณ์ถือว่าหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้รถจักรยานยนต์กันเยอะมาก และมีอุบัติเหตุเยอะขึ้น ซึ่ง สพฐ. พร้อมสนับสนุนการรณรงค์ห้ามขับขี่รถจักรยานยนต์ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยคาดว่าจะมีการออกเป็นหนังสือสั่งการให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทุกแห่งต้องดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เพียงแต่โรงเรียนนำร่อง 80 แห่งเท่านั้น เพื่อช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น โดยผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ต้องมีการตรวจสอบสถานการณ์ สอดส่องดูแลและควบคุมสถานการณ์นี้ สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนมีเรื่องอุบัติเหตุจราจรทางถนนอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องมีการปรับให้กระบวนการจัดการเรียนเรียนรู้ให้มีความคมขึ้น เป็นวิถีของโรงเรียน และวิถีชีวิตเพื่อให้เกิดเป็นวินัย โดยอาจเพิ่มเข้าไปในส่วนของการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้

นางประอรศิริ ชวีวัฒน์ ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 7 จ.สุพรรณบุรี หนึ่งในโรงเรียนนำร่องโครงการก่อน 15 ไม่ขี่ กล่าวว่า ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 7 ตระหนักเรื่องภัยจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ก่อนวัย 15 ปี จึงทำโครงการรณรงค์ในโรงเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การทำละครและการแต่งเพลงเพื่อเป็นสื่อรณรงค์ การให้ความรู้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการไม่ขับขี่ก่อนวัย และโรงเรียนจัดรถรับส่งฟรีแก่นักเรียน ม.1 - 4 เพื่อลดอุบัติเหตุ ทำให้นักเรียนทั้งภายในและนอกโรงเรียนตระหนักถึงอันตรายจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ก่อนวัย 15 ปี รู้ถึงผลกระทบต่อตนเองและบุคคลรอบข้างโดยเฉพาะครอบครัว และเด็กได้เรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง



กำลังโหลดความคิดเห็น