ก.แรงงาน จับมือสภาอุตฯ ท่องเที่ยว ปั้นเด็กราชภัฏฝึกทักษะบุกท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ในกลุ่ม s curve หรือกลุ่มแรกที่จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) นั้น พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน สอดรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และกลุ่มที่ยังต้องใช้ทักษะที่พึ่งพากำลังแรงงานจากมนุษย์ กพร. จึงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ในการพัฒนากำลังแรงงานป้อนสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า การบูรณาการมีแนวทางความร่วมมือ อาทิ การสำรวจความต้องการของตลาดแรงงาน และจัดฝึกอบรมในสาขาที่ขาดแคลน เช่น สาขาพนักงานต้อนรับส่วนหน้า สาขาพนักงานดูแลห้องพัก พนักงานให้บริการด้านสปา พนักงานนวดแผนไทย นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะเฉพาะด้านแล้ว ต้องพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย เช่น การฝึกอบรมด้านภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ในเนื้อหาหลักสูตรอาจสอดแทรกหัวข้อการนำ Application ช่วยในการแปลภาษา จะทำให้ผู้อบรม เรียนรู้ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมถึงสื่อสารได้สะดวกมากขึ้นด้วย
นายธีรพล กล่าวต่ออีกว่า จากการหารือกับสภาอุตฯ ท่องเที่ยว อยากจะเน้นฝึกอบรมให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 3 และ 4 ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันนักศึกษากลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญอยู่แล้วแต่เราต้องสร้างกำลังแรงงานที่จะรองรับอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเตรียมพร้อมยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดความเจริญเติบโต สำหรับการฝึกอบรมจะเป็นแบบสหศึกษา โดยจะมีฝึกอบรมในลักษณะการทำงานจริงในสถานประกอบกิจการ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เทคโนโลยีชั้นสูง ที่เน้นด้านการท่องเที่ยวที่ กพร. ได้จัดตั้งเป็นสถาบันนำร่องด้านนี้จำนวน 2 แห่ง คือ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีแนวโน้มการขยายตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผู้ประกอบอาชีพด้านนี้จะมีรายได้สูงขึ้น อาทิ สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก (โภชนาบำบัด) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ 2 สูงถึง 815 บาทต่อวัน ดังนั้น จึงถือได้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาที่จะร่วมมือกัน เตรียมพร้อมในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งแรงงานเดิม และแรงงานใหม่ ปลูกฝังให้รักและเห็นความสำคัญในวิถีไทย วิถีถิ่น และภาคภูมิใจในความเป็นไทย ตลอดจนรักษาอาชีพด้านการท่องเที่ยวนี้ไว้ เพราะนี้คืออาชีพที่ “เครื่องจักรกล ทำไม่ได้” นายธีรพล กล่าว